มะละกา
พหุลักษณ์ทางสังคมแห่งเมืองท่า
แผนที่เก่าแสดงที่ตั้งของเมืองท่ามะละกาซึ่งเป็นเมืองสำคัญบริเวณช่องแคบ |
มะละกาเป็นเมืองท่าเก่าแก่และมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของคาบสมุทรมลายู เป็นเมืองท่าตั้งอยู่บริเวณช่องแคบระหว่างคาบสมุทรมาลายาและเกาะสุมาตราในทะเลอันดามัน ที่เรียกว่า “ช่องแคบมะละกา”ก่อนหน้านั้นมีเมืองท่าที่สำคัญบนเกาะสุมาตรา เช่น อูรู เปเดร์ และปาไซ พ่อค้ามุสลิมจากแอฟริกา อาหรับ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น จึงรู้จักกันดี เพราะเป็นเส้นทางผ่านไปสู่เอเชียตะวันออกโดยเฉพาะเมืองจีน
เมืองท่าริมชายฝั่งแห่งนี้กำเนิดขึ้นจากกษัตริย์ “ปรเมศวร”หรือราชาอีสกันดาร์ที่กล่าวกันว่าสืบเชื้อสายมาจาก “อเล็กซานเดอร์ผู้ยิ่งใหญ่”[Alexander the Great]ผู้ครอบครองนครเทมาเสกหรือเกาะสิงคโปร์คนสุดท้ายในปี พ.ศ. ๑๙๓๙ ปรเมศวรเป็นผู้นับถือฮินดูจากเกาะชวา
ตำนานเล่าว่า “ปรเมศวร”ประพาสล่าสัตว์ในแถบนี้ เมื่อพักเหนื่อยอยู่ใต้ต้นมะละกาใกล้กับแม่น้ำมะละกาปัจจุบัน กวางวิ่งออกมาทำให้หมาไล่เนื้อตกใจจนตกลงไปในแม่น้ำ จึงเห็นว่าสิ่งนี้เป็นสัญญาณที่ดี เมื่อความอ่อนแอสามารถเอาชนะความเข้มแข็งได้ จึงตั้งเมืองในบริเวณนี้ ส่วนอีกทางหนึ่งกล่าวว่า“มะละกา”มาจากคำในภาษาอาหรับMalakatที่แปลว่า ตลาด มะละกาเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามอย่างเป็นทางการเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และกลายเป็นศูนย์กลางเมืองท่าริมชายฝั่งในช่องแคบของคนทุกเชื้อชาติและศาสนา
หลังจากการเดินเรือที่ยิ่งใหญ่ของเจิ้งเหอ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อได้รับการปกป้องจากการโจมตีของอยุธยา มะละกาจึงเป็นรัฐในอารักขาของราชวงศ์หมิง สุลต่านแห่งสมุทร-ปาไซเป็นผู้ก่อตั้งรัฐอิสลาม มีการกล่าวว่าแต่งงานกับเจ้าสาวจากราชวงศ์หมิงด้วย
ต่อมา โปรตุเกส ดัตช์หรือเนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ ต่างแย่งชิงเมืองท่าแห่งนี้ในยุคการค้ากันเป็นลำดับ
มะละกาเข้าสู่ยุคอาณานิคมโดยตกเป็นของโปรตุเกสเมื่อ พ.ศ.๒๐๕๔ พวกดัตช์แย่งชิงมาด้วยการโจมตีเมื่อ พ.ศ. ๒๑๙๔ หลังจากนั้นมากกว่าศตวรรษ เมื่อเกิดสงครามนโปเลียน พ.ศ.๒๓๓๘ ดัตช์มอบมะละกาให้อังกฤษเพื่อเป็นกันชนแก่ฝรั่งเศส ก่อนจะถูกส่งกลับคืนและนำมาแลกกับ “บังกาลูลู”ในเกาะสุมาตรา เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ เป็นต้นมา บริษัทอิสต์อินเดียของอังกฤษปกครองฝั่งตะวันตกของมาลายาตั้งแต่เกาะสิงคโปร์ไปจนถึงปีนัง โดยอยู่ภายใต้การบริหารงานอาณานิคมที่กัลกัตตา ศูนย์กลางอาณานิคมใหญ่ของอังกฤษที่อินเดีย
ดัตช์ที่ปกครองมะละกาอยู่กว่าร้อยห้าสิบปี สร้างอาคารจำนวนมากที่ยังคงหลงเหลืออยู่ใกล้เขามะละกาหรือเขาเซนต์ปอล ย่านนี้เป็นแหล่งที่เป็นศูนย์รวมของอาคารจากยุคอาณานิคมที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน มีอาคารที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เมืองมะละกา ตึกStadthuysซึ่งเป็นอาคารที่เก่าที่สุดในอาณานิคมฝั่งเอเชียอยู่ที่นี่สร้างตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.๒๑๙๓ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำการของผู้ปกครองอาณานิคมชาวดัตช์ ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ [Museum of History and Ethnography]จัดแสดงเรื่องราวของเมืองประวัติศาสตร์มะละกาและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งเชื้อสายจีน อินเดีย โปรตุเกส และมลายู อยู่ในย่านที่เรียกว่า จัตุรัสแดง
ย่านค้าขาย ร้านขายผ้าของชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย | ในท่ามกลางความเป็นเมืองเก่า เมืองใหม่ที่เป็นคอนโดมิเนียมชายทะเลถูกปลูกสร้างอยู่อีกส่วนหนึ่ง |
ในย่านจัตุรัสแดง นอกจากตึกที่เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งยังแบ่งย่อยออกเป็นพิพิธภัณฑ์ทางวรรณคดี พิพิธภัณฑ์ของการประกาศเอกราช มีโบสถ์ที่สร้างด้วยอิฐสีชมพูจากเนเธอร์แลนด์ มีลานน้ำพุที่สร้างเลียนแบบดัตช์ บนยอดเขามีโบสถ์เซนต์ปอลตั้งอยู่ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยโปรตุเกสปกครองในปี พ.ศ. ๒๐๖๔ และกลายมาเป็นป้อมมะละกา พ.ศ. ๒๒๑๐และ พ.ศ. ๒๒๓๙ ก็ตกเป็นของดัตช์ ที่ก่อนหน้านั้นเป็นสถานที่ฝังศพ ซึ่งยังคงเห็นหลุมฝังศพอยู่บริเวณแนวรั้วอีกด้านหนึ่งของเนินเขา มีพิพิธภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่เคยเป็นสวนและวังของสุลต่านแห่งมะละกา
เมืองมะละกายังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์แห่งชาติมาเลเซีย หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ต่อต้านอาณานิคมกระจายไปทั่วในกลุ่มผู้รักชาติ เมืองมะละกาเป็นที่ประกาศเอกราชของนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย ตนกู อับดุล มารัน ปุตรา ที่บันดาร์ฮิเลร์ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๙
การเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสในช่วงต้นศตวรรษที่ ๑๖ ทำให้ส่งต่อวัฒนธรรมการทำอาหารพวกขนมอบ ขนมที่ปรับมาจากแบบจีน โปรตุเกส และมาเลย์ ทำให้อาหารที่มะละกามีชื่อว่าอร่อยและผสมผสานต่างวัฒนธรรมมากที่สุด
อาหารอร่อยของมะละกา คือ อาหารจีนแบบลูกครึ่งที่รวมเอาอาหารแบบจีนและมาเลย์ที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศรสจัดและความจัดเจนในการปรุงอาหารแบบคนจีน มะละกาจึงเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมแบบเปอระนะกัน[Peranakan Culture]เพราะเมื่อคนจีนยุคแรกๆ มาถึงมะละกาเพื่อเป็นคนงานในเหมืองและแต่งงานกับเจ้าสาวชาวมลายูก็ปรับรับเอาวัฒนธรรมแบบท้องถิ่นมาใช้ ผลก็คือ เป็นวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างมลายูและจีน ผู้ชายเรียกกันว่า บาบ๊า [Baba]และผู้หญิงก็เรียกว่า นันย๊า [Nonya] มีบ้านเรือนแบบตึกที่อาศัยเป็นที่ค้าขายไปด้วย เราเรียกกันในปัจจุบันว่าตึกแบบสมัยโคโลนีหรือตึกแบบสมัยอาณานิคม หลุมฝังศพจีนบนเนินเขาจีนในมะละกา เป็นแหล่งฝังศพชาวจีนโพ้นทะเลที่ใหญ่ที่สุดย้อนกลับไปได้ถึงราวปลายสมัยราชวงศ์หมิง แต่หลายพื้นที่ถูกขุดไปในช่วงที่อังกฤษปกครอง เป็นสถานที่ซึ่งชาวบ้านในปัจจุบันนิยมไปวิ่งออกกำลังกายและมองเห็นวิวของเมืองได้ทั้งหมด เชิงเขามีวัด Poh San Teng
แม่น้ำมะละกา ทั้งย่านร้านค้า โบสถ์คาทอลิก มัสยิด และโกดังสินค้า แสดงถึงความเป็นเมืองท่าอันหลากหลายวัฒนธรรม |
ลูกหลานของผู้ที่มีฝรั่งโปรตุเกสเป็นบรรพบุรุษยังคงพูดภาษาแบบลูกครึ่งที่เป็นเอกลักษณ์รู้จักกันในชื่อ คริสตังCristão or Kristang.และประเพณีแบบโปรตุเกสที่ยังคงสืบทอดและส่งผ่านมาสู่กลุ่มลูกหลานชาวโปรตุเกสในปัจจุบันก็คือ เทศกาลน้ำ Intruduหรือการถือบวชของชาวคาทอลิก เทศกาลเต้นรำ Branyu เทศกาลเฉลิมฉลองตามถนนวันเทศกาลประจำปีซานตาครูซ Santa Cruz
เมืองมะละกาปัจจุบัน นอกจากจะมีเรื่องของการท่องเที่ยวที่เป็นหลักเป็นฐานแล้ว ในพื้นที่ของเมืองที่ขยับขยายและวางผังเองอย่างชัดเจน เขตชายทะเลเป็นส่วนที่เป็นเมืองตากอากาศ มีตึกและคอนโดมิเนียมสำหรับคนมาเลเซียในพื้นที่อื่นๆ ซื้อไว้สำหรับพักผ่อน เขตรอบนอกมีย่านอุตสาหกรรมกว่า ๒๓ แห่ง และโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า ๕๐๐ โรงงานจากประเทศต่างๆ เชื่อมด้วยทางด่วนสายสำคัญจากเหนือลงใต้ จากประเทศไทยจนถึงสิงคโปร์ เป็นทางด่วนในการติดต่อต่อเนื่องกับรัฐต่างๆ ย่านฝั่งตะวันตกและเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ มะละกาจึงเป็นเมืองสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และทางเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซียอย่างยิ่ง
ในย่านเก่าที่เป็นตลาดตั้งแต่ยุคอาณานิคม ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ภูเขามะละกาหรือเขาเซนต์ปอล ย่านเก่าทั้งสองฝั่งแม่น้ำมะละกาเป็นตึกยุคโคโลนียังคงมีชีวิตชีวา เพราะการทำมาค้าขายของร้านค้าต่างๆ ทั้งคนเชื้อสายจีน อินเดีย มาเลย์ ต่างทำกินกันอย่างคึกคักและเป็นธรรมชาติ แม้เราจะเห็นว่าในเมืองเก่าและอาคารเก่าเหล่านี้จะถูก “จัดวาง”อย่างเรียบร้อยแล้ว ถูกคุมในเรื่องสภาพแวดล้อมของการเป็นเมืองเก่าอย่างเข้มงวด แต่ชีวิตที่นี่ยังมีสีสัน เพราะบริเวณกว้างขวางเหล่านี้คือ ตัวอย่างอันน่าตื่นตาตื่นใจของผู้มาเยือนที่จะเรียนรู้ลักษณะของ “ความเป็นสังคมพหุลักษณ์”ที่ประกอบไปด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา อยู่ร่วมกันอย่างสงบและไม่เบียดเบียนจนมีเหตุร้ายให้เห็นดังเช่น ในสามจังหวัดภาคใต้ของเราเผชิญอยู่ในขณะนี้
มัสยิดและย่านตลาดจีนอยู่ในบริเวณเดียวกัน | มะละกาคือสังคมพหุลักษณ์อย่างแท้จริง เป็นสังคมที่คนไทยควรไปท่องเที่ยวและเรียนรู้เอกลักษณ์บนความหลากหลายอย่างเร่งด่วน |
ในเสียงจ๊อกแจ๊กจอแจของคนมาเลเซียเชื้อสายจีนหรือกลุ่มบาบ๊าที่พูดได้ทั้งภาษามาเลย์และภาษาอังกฤษในยามเย็นเมื่อตะวันเริ่มพลบค่ำ การออกมานอกชายคาเพื่อพูดคุยของกลุ่มคนสูงอายุพบเห็นตามถนนได้ทั่วไปในตลาดจีน นักท่องเที่ยวชาวดัตช์นั่งดื่มเบียร์ในร้านที่แยกออกไปจากเขตการค้าของชาวมุสลิม เสียงเรียกเพื่อทำละหมาดยามเย็นก็ดังก้องไปทั่วบริเวณ เป็นกิจวัตรของคนต่างศาสนาที่เป็น “เรื่องปกติ”ในมะละกา