หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
เมืองโบราณ จากเมืองจำลองมาเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งระดับโลก
บทความโดย ศรีศักร วัลลิโถดม
เรียบเรียงเมื่อ 2 ก.พ. 2559, 15:00 น.
เข้าชมแล้ว 25867 ครั้ง

เมืองโบราณ จากเมืองจำลองมาเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งระดับโลก

 



วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน เป็นวันที่คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้สร้างเมืองโบราณและจัดตั้งมูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์ จากไป ทางมูลนิธิฯ ถือว่าเป็นวันสำคัญ ที่ทุก ๆ ปี จะต้องจัดกิจกรรมทางปัญญาขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกและสนองเจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่ของคุณเล็ก เพราะคุณเล็กเมื่อมีอายุใกล้จะ ๖๐ ปีนั้น ได้ยุติกิจกรรมทางธุรกิจที่แสวงหาความมั่งคั่งทางวัตถุอย่างสิ้นเชิง โดยโอนความรับผิดชอบใด ๆ ในงานทางธุรกิจให้แก่คุณประไพ -- ผู้ภรรยาและครอบครัวดำเนินต่อไป หันมาสร้างสรรค์งานทางด้านศิลปวัฒนธรรมและจิตวิญญาณแทน สิ่งที่ท่านทิ้งไว้ให้แก่แผ่นดินและโลก ก็คือ เมืองโบราณ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณที่สมุทรปราการ และปราสาทสัจธรรมที่พัทยา ควบคู่กันกับการก่อสร้างสิ่งมหัศจรรย์ทั้งสามอย่างนี้ ก็คือ การสนับสนุน การค้นคว้ารวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวัฒนธรรมท้องถิ่นมาพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเมืองโบราณ กับ การจัดตั้งมูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์ มาสนับสนุนทางวิชาการให้กับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ เมืองโบราณ คือ สิ่งที่คุณเล็กต้องการให้คนไทยรุ่นใหม่ได้รู้จักอารยธรรมของบ้านเมือง อันเป็นรากเหง้าของตัวเอง ปราสาทสัจธรรม คือ สิ่งที่มุ่งมั่นให้เป็นแหล่งเรียนรู้และเข้าถึงศาสนาและปรัชญาของโลก ที่ศาสดาและปราชญ์ของศาสนาใหญ่ ๆ ได้สั่งสอนไว้ คุณเล็กถือว่าสิ่งที่ดีงามและเคยจรรโลงสันติสุขในโลกเหล่านี้ คือ สิ่งที่เป็นสัจบรรณของมนุษยชาติที่สร้างสรรค์และสะสมมาอย่างเพียงพอ เป็นสิ่งที่ทุกคนที่ใฝ่สันติควรรับทราบและเรียนรู้ ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ คือ สถานที่เก็บของและตั้งแสดงบรรดาศิลปวัตถุที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของบ้านเมือง ที่คุณเล็กและคุณประไพได้แสวงหา เลือกเฟ้น และสะสมไว้ เพื่อไม่ให้ตกไปเป็นของคนอื่นในต่างประเทศ เพราะโบราณวัตถุหลายชิ้นหลายอัน เช่น พระพุทธรูป เทวรูป ล้วนเคยเป็นวัตถุเคารพศักดิ์สิทธิ์ของรัฐ อาณาจักร และบ้านเมืองในอดีตที่ผ่านมา

 

 

คุณเล็กในวัยหนุ่ม (ช่วงยังทำธุรกิจ)

 

 

คุณเล็กสร้างสถานที่สำคัญ ทั้ง สามแห่งนี้ด้วยความคิด จินตนาการและกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ด้วยตนเอง ในลักษณะที่เป็นวิวัฒนาการมากกว่าการทำอะไรอย่างมีระบบแบบแผน ที่มีกำหนดเวลาตายตัว ซึ่ง คาดคะเนได้ว่าจะเสร็จเมื่อใดและได้ประโยชน์แบบใด อย่างการวางแผนตามโครงการต่าง ๆ ที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน เมืองโบราณนับเป็นจุดเริ่มต้นของคุณเล็กที่ดูคล้าย ๆ กับความคิดของใครต่อใครที่ร่วมสมัย  ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือ เริ่มจากความคิดที่จะสร้าง เมืองจำลอง ให้คนที่สนใจได้มาเที่ยวอย่างได้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่สำคัญในบ้านเมืองของตนในเวลาเดียวกัน เมืองจำลองเช่นว่านี้เกิดขึ้นอย่างง่าย ๆ ด้วยการหาพื้นที่สักผืนหนึ่งมาจัดทำภูมิทัศน์แล้วสร้างรูปจำลองของสถานที่สำคัญ ๆ ทางศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองนั้น หรือประเทศนั้นขึ้นมา มีป้ายบอกแสดงหรือมีหนังสือนำชม ตลอดจนมีคนอธิบาย พร้อม ๆ กันกับการจัดสวนให้คนเข้าไปเที่ยวชม มีร้านขายอาหาร มีการแสดงอะไรต่าง ๆ นานา เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน โดยเฉพาะการทำให้เด็ก ๆ ชอบ และอยากให้พ่อแม่พาไปเที่ยวอะไรทำนอง นั้น เมืองจำลองหลาย ๆ แห่งได้พัฒนาใหญ่โตไปจนกลายเป็นสวนสนุก อย่างเช่นดิสนีย์แลนด์ใน อเมริกาและญี่ปุ่น เป็นต้น

 

คุณเล็ก เริ่มต้นเมืองจำลองด้วยพื้นที่ใกล้ทะเลในเขตบางปูกว่า ๖๐๐ ไร่ โดยให้ความสำคัญกับการจัดผังบริเวณทั้งหมดให้เป็นแผนที่ประเทศไทย โดยขุดทางน้ำให้เป็นแม่น้ำลำคลองที่แยกภูมิภาคต่าง ๆ ออกจากกัน แล้วจำลองสถานที่สำคัญของแต่ละจังหวัดลงไป อย่างเช่น เมืองกรุงเทพฯ ที่มีป้อมปราการโอบล้อมที่สร้างมาแต่สมัยรัชกาลที่๑ เป็นการจำลองสถานที่ขนาดเล็กให้คนได้เดินชมแต่ละแห่งอย่างผ่าน ๆ ไปด้วยเวลาอันสั้น เมื่อทำไปได้สักสองสามแห่ง คุณเล็กเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์อะไร เพราะได้เรียนรู้และเกิดความคิดและความเข้าใจอะไรใหม่ ๆ ขึ้น อันเนื่องมาจากท่านเป็นผู้ทำการก่อสร้างด้วยตนเอง คุณเล็กจึงทำการค้นคว้า อ่านหนังสือหาข้อมูลเพิ่มเติม พบปะและเชิญนักวิชาการผู้รู้ทางศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และบรรดาศิลปินระดับชาติ

 

 

ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรมมาร่วมทำงาน ในขณะเดียวกันก็เดินทางออกไปดูสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตามภาคต่าง ๆ ทำให้แลเห็นลักษณะภูมิประเทศบ้านเมือง และผู้คนที่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งหลายแหล่เหล่านี้ทำให้คุณเล็กเรียนรู้และเปลี่ยนใจในกระบวนการทำงาน ที่ทำให้ความคิดที่จะทำเมืองจำลองหมดไปอย่างสิ้นเชิง คือ ทำให้เป็นเมืองจริง ๆ ขึ้นมา แต่เป็น เมืองโบราณ เพราะครอบคลุมพื้น ที่ขนาดใหญ่กว่า ๖๐๐ ไร่ ที่จะทำให้เป็นที่มีผู้คนอยู่อาศัยในลักษณะที่เป็นชุมชนเมืองได้ แล้วเปลี่ยนมาสร้างสถานที่ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของแต่ละจังหวัดในทุกภูมิภาค ให้เป็นสัญลักษณ์ของบ้านเมืองในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งสถานที่เหล่านั้นก็ล้วนสร้างด้วยขนาดใกล้ของจริงและถ่ายแบบถ่ายผังมาสร้างขึ้น เพื่อให้ผู้คนที่อยู่ตามท้องถิ่นแลเห็น และยอมรับว่าเหมือนกันกับของจริงของตน

 

 

 

คุณเล็กและคณะทำงานได้เดินทางออกไปตามท้องถิ่นต่างๆทั้งประเทศ เพื่อแสวงหาและเลือกเฟ้นสถานที่ทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมด้วยตนเอง ได้สัมผัสกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และนิเวศวัฒนธรรมของผู้คนตามท้องถิ่นต่าง ๆ จนเกิดการเรียนรู้และเข้าใจอะไรต่าง ๆ อย่างลุ่มลึก สิ่งที่เป็นผลตามมา ก็คือ ท่านได้พบบ้านโบราณ อาคารศาสนา และโบราณวัตถุทางชาติพันธุ์ ตลอดจนได้แลเห็นประเพณีพิธีกรรม รวมทั้งแลเห็นวิถีชีวิตและวิธีคิดของผู้คนในท้องถิ่นอีกมากมาย สิ่งนี้คือกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นจุดหักเหให้ท่านเปลี่ยนใจที่จะไม่ไปเพียงแสวงหาและถ่ายแบบบรรดา สถานที่ โบราณสถานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี แต่เพียงอย่างเดียว หากเปลี่ยนมาเป็นให้ความสนใจกับการรวบรวมโบราณวัตถุทางชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน อาคารศาสนาที่สร้างด้วยเครื่องไม้ พาหนะโบราณ เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องทำมาหากิน มาตั้งแสดงที่เมืองโบราณ โดยเฉพาะการจัดสถานที่ทำเป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมชาวนาขึ้นในเมืองโบราณ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ทางชาติพันธุ์แห่งแรก ๆ ของเมืองไทยก็ว่าได้

 

 

การสร้างพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมชาวนา หรือพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน คือ จุดหักเหสำคัญที่ทำให้เมืองโบราณไม่ใช่เมืองจำลอง หรือเมืองเนรมิตที่ผู้คนในระยะนั้นเข้าใจกัน หากกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแทน คุณเล็กเองก็อึดอัดกับคำว่า เมืองจำลองหรือเมืองเนรมิต ที่คนทั่วไปและสื่อเรียกกันในระยะเวลานั้น แต่แทนที่จะเกิดความท้อแท้ถอยหลัง กลับมุ่งหน้าที่จะเน้นในการแสวงหาสิ่งของและอาคารเก่า ๆ ที่มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมมาเก็บไว้ที่เมืองโบราณเพิ่มขึ้น การรวบรวมของโบราณเหล่านี้เป็นไปอย่างมีระบบ คือ ทำความเข้าใจในเรื่องความหมาย ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของสิ่งของนั้น ๆ เสียก่อน ถ้าหากไม่แลเห็นหรือเข้าใจความหมายความสำคัญแล้วก็จะไม่เอา เพราะสิ่งของที่ดูดีดูสวย และมีราคาค่างวดนั้นมีอยู่ดาษดื่น ถ้าเอามาที่เมืองโบราณก็คงไม่มีที่จะจัดตั้งได้พอ แต่ในขณะเดียวกันถ้าสิ่งของนั้นยังมีความหมาย ความสำคัญต่อคนท้องถิ่นและเป็นที่หวงแหนก็จะไม่เกี่ยวข้องด้วย และสนับสนุนให้อนุรักษ์เป็นของสำคัญของท้องถิ่นดังเดิม

 

 

เมื่อผาติกรรมวัดจองคำมาแล้ว ก็ได้นำมาบูรณะและสร้างขึ้นใหม่ได้อย่างสมบูรณ์

 

ดังเช่นอาคารวัดจองคำ ที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นวัดของพวกไทยใหญ่แต่สมัยรัชกาลที่๕ เป็นอาคารไม้สักทั้งหลังดูสวยงามและโดดเด่น อีกทั้งเป็นโครงสร้างของวัดไทยใหญ่ที่ทำด้วยไม้สักล้วน ๆ ที่ไม่ผสมผสานด้วยฐานอิฐและปูนแต่อย่างใด เมื่อแรกพบอยู่ในสภาพที่โย้เย้ทรุดโทรมใกล้จะพัง พอสอบถามก็ได้ความว่าไม่มีใครใส่ใจที่จะบูรณะ เพราะกำลังเงินของคณะศรัทธาไม่พอเพียง คุณเล็กจึงขอผาติกรรมเพื่อมาเก็บไว้ที่เมืองโบราณ ซึ่งทางผู้ดูแลก็ยินยอม แต่เมื่อทางเมืองโบราณส่งทีมงานขึ้นไปทำผังและเคลื่อนย้าย ก็ถูกต่อต้านโดยคนท้องถิ่นที่มีพ่อเลี้ยงสนับสนุน ไม่ยินยอมและอ้างว่าจะทำการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์เอง คุณเล็กไม่มีความเสียดายและขัดเคืองแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกับพอใจ เพราะถือว่ามีส่วนกระตุ้นให้คนท้องถิ่นเห็นคุณค่าที่จะอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของพวกตนไว้ แต่เมื่อเวลาล่วงมา ๒ ปีเต็ม ทางวัดก็แจ้งลงมาว่าไม่มีการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์ใดตามที่มีการเคลื่อนไหวไว้ อาคารวัดก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมจนซ่อมแซมไม่ได้ จึงขอให้ทางเมืองโบราณช่วยไปผาติกรรมมา เพื่อจะได้นำเงินผาติกรรมไปสร้างอาคารใหญ่ที่คงทนกว่า คุณเล็กก็ตกลง แล้วผาติกรรมอาคารเก่าวัดจองคำอย่างพอเพียงกับท้องถิ่นที่จะนำเงินไปสร้างอาคารใหม่ อาคารเก่าของวัดจองคำที่ได้มานั้นอยู่ในลักษณะที่หมดสภาพจริง ๆ เหลือส่วนที่คงทนได้เพียง ๒๐ กว่าเปอร์เซนต์เท่านั้น โดยเฉพาะหลังคาที่มุงด้วยสังกะสีแทนของที่เคยมีมาก่อน ก็อยู่ในสภาพที่รุ่งริ่ง ต้องลอกลวดลายสลักที่มีอยู่มาใส่แผ่นไม้ และมุงด้วยหลังคาแป้นเกล็ดให้เหมือนดังเดิม กว่าจะติดตั้งและต่อเติมได้สำเร็จก็ต้องใช้เงินมากกว่าการสร้างอาคารใหม่ทั้งหลังทีเดียว แต่ที่น่ายินดีก็คือ เมื่อเวลาต่อมามีพระและชาวบ้านจากท้องถิ่นเมืองงาวมาเที่ยวเมืองโบราณ พบเห็นและดีใจที่อาคารเก่าวัดจองคำได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี โดยมีการบอกกล่าวให้เห็นชัดเจนว่าเป็นของที่ไปจากเมืองงาว

 

นอกจากอาคารวัดจองคำแล้ว คุณเล็กก็ได้ผาติกรรมพระวิหารวัดพร้าว ที่เมืองตาก มาไว้ที่เมืองโบราณ เป็นวิหารโถงก่อด้วยไม้  หน้าบันและสาหร่ายรวงผึ้งดูสวยงาม แม้ว่าจะทรุดโทรมลงมากก็ตาม เมื่อตอนพบวิหารนี้ถูกรื้อลงมากองไว้กับพื้น เพราะทางวัดกำลังก่อสร้างอาคารใหม่ด้วยซีเมนต์ขึ้นแทนที่ เมื่อสอบประวัติแล้วก็พบว่าวิหารเก่าของวัดนี้ เคยเป็นที่ซึ่งนักสำรวจชาวฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเมืองไทยสมัยรัชกาลที่๔ ชื่อ อองเดร มูโอ มาเห็นและกล่าวถึง คุณเล็กได้อาคารบ้านเรือนและร้านค้าที่สร้างด้วยไม้อีกหลายแห่งในเขตเมืองตาก แล้วนำมารวมกันกับเรือนไม้และเรือนแพที่ได้มาจากที่อื่น ๆ มาจัดตั้งเป็นเมืองริมน้ำและตลาดน้ำขึ้นในเมืองโบราณ โดยอาศัยภาพวาดและภาพถ่ายเก่า ๆ สมัยรัชกาลที่ ๔ ลงมา ผสมกับการเดินทางไปเที่ยวดูบรรดาเมืองริมน้ำที่ยังเหลืออยู่ในถิ่นต่าง ๆ ของภาคกลางมาให้แนวคิดและตัวอย่างในการสร้าง ทำให้เมืองริมน้ำและตลาดน้ำของเมืองโบราณมีสภาพเป็นเมืองลอยน้ำอย่างที่เคยมีมาแต่อดีต ตั้ง แต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ขึ้นไป เพราะตอนนั้นยังไม่มีเรือยนต์กลไฟวิ่งตามลำน้ำจนทำให้เกิดลูกคลื่น ที่ทำให้เรือนแพและเรือแจวเรือพายเดือดร้อน ความเป็นเมืองลอยน้ำจึงยังอนุรักษ์ไว้ที่เมืองโบราณ เพราะบรรดาอาคารต่าง ๆ ทั้งบ้านเรือนและร้านค้าต่างก็อยู่ในน้ำและริมน้ำมากกว่าอยู่บนบก

 

 


ตลาดน้ำที่แสดงถึงวิถีชีวิตริมน้ำของคนไทยในอดีต ซึ่งประกอบด้วยเรือนแพ ค้าขาย

ที่อยู่อาศัย และศาสนสถานของคนหลากหลายกลุ่ม

 

จากตลาดน้ำก็สร้างตลาดบก เพราะได้ใจที่สามารถขอขึ้นอาคารไม้เก่าๆ ตามวัดและท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศได้ บางแห่งก็มีคนมาเสนอขายให้เพราะรักษาไว้ไม่ได้ คุณเล็กเติบโตมาในย่านธุรกิจที่เป็นตลาดและชุมชน จึงเข้าใจความเป็นชุมชนเมืองของตลาดได้ดี จึงสามารถนำเอาบรรดาอาคารเก่าๆ ที่มีหลายสมัยมาสร้างขึ้นให้เหมือนกันกับความเป็นตลาดในเมืองอย่างอดีตที่มีมาแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ทั้งตลาดบกและตลาดน้ำของเมืองโบราณล้วนมีโครงสร้างที่เหมือนกัน คือเป็นทั้งย่านที่อยู่อาศัยของผู้คนหลายอาชีพหลายกลุ่ม และมีพื้นที่ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมร่วมกัน เช่น ในย่านตลาดบก ก็มีบริเวณตลาดที่ขายของสดของคาวและของใช้ร่วมกัน ในขณะที่ชุมชนเมืองริมน้ำใช้ท้องน้ำที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ลอยเรือขายของสด ของคาวแทน นอกจากนั้นความเป็นชุมชนเมืองยังมีสถานที่ประกอบประเพณีพิธีกรรมของผู้คน ที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาอีกด้วย เช่น มีวัด โบสถ์คริสต์ มัสยิด ศาลเจ้า โรงเจ เป็นต้น การสร้างตลาดน้ำและตลาดบกของเมืองโบราณนั้น นับเป็นการวางรากฐานของการเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ชัดเจนและดีที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองโบราณ เพราะบรรดาอาคารต่าง ๆ นั้น รวมเป็นของจริงและรักษารูปแบบเดิม ๆ ไว้ จะแปลกอยู่ก็แต่เพียงหาได้นำมาจัดตั้งเป็นแห่งๆ แล้วเขียนบอก ไว้ว่ามาจากที่ใด เป็นของสมัยใด แบบการแสดงสิ่งของและสิ่งก่อสร้างตามแบบที่ทำกันของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หากเป็นการนำมาเชื่อมโยงให้เป็นโครงสร้างของชุมชนเมือง ที่จะสะท้อนให้แลเห็นชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม 

 

จากตลาดน้ำและตลาดบกก็เป็นบ้าน วิหาร และโบสถ์ของทางภาคเหนือ คุณเล็กให้ความสนใจกับเรือนโบราณที่มีกาแลในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เพราะแลเห็นเป็นลักษณะพิเศษที่พบส่วนใหญ่ในเขตสองจังหวัดนี้ ในช่วงเวลาที่ออกไปเที่ยวสำรวจนั้น เรือนแบบนี้ยังมีอยู่มาก จึงไปซื้อและรื้อถอนมา ซึ่งมักได้ความเสมอว่า ผู้ที่ขายให้มักเป็นคนแก่ๆ ที่บอกว่าคนรุ่นลูกหลานไม่สนใจที่จะอยู่ในเรือนแบบนี้อีกแล้ว ดังนั้นเมื่อเวลาจะรื้อถอน คุณเล็กจะใช้เวลาที่พูดคุยกับคนที่อยู่อาศัยว่า อยู่กินบนเรือนกันแบบไหน เข้าไปดูโครงสร้างภายในเป็นอย่างใด ในขณะเดียวกันก็จะออกมาพิจารณาดูลักษณะการตั้งเรือนและสภาพแวดล้อมอย่างมีสมาธิ โดยให้ความเห็นว่าการรื้อบ้านเรือนเขาไปสร้างนั้น ไม่ควรทำแต่เพียงเอาสิ่งของที่เป็นวัตถุไป หากต้องเอาคนไปด้วย โดยการพยายามสร้างเรือนให้เหมือนกับการมีคนอยู่อาศัยอย่างที่เป็นจริง มิฉะนั้นจะกลายเป็นเรือนจำลองไป ดังนั้นเมื่อนำมาจัดตั้งที่เมืองโบราณแล้ว เรือนโบราณดังกล่าวจึงให้มีคนอยู่อาศัยในลักษณะที่มีบรรยากาศของความเป็นจริง ทุกวันนี้ในเมืองโบราณ มีเรือนโบราณของเชียงใหม่และลำพูนมากกว่าแทบทุกแห่งในขณะนี้ ในขณะที่หลาย ๆ แห่งหันมาสนใจสร้างใหม่กันเยอะแยะ โดยคิดว่าเรือนแบบนี้ คือ อัตลักษณ์ของล้านนา ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริง ไม่ทุกจังหวัดในล้านนาที่มีเรือนแบบนี้ เรื่องของวัดของทางภาคเหนือก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างไปจากวัดของคนภาคกลาง การเที่ยวสำรวจของคุณเล็กในครั้งนั้น มักพบเห็นอาคารสำคัญของวัด ก็คือ วิหาร หาใช่โบสถ์แบบที่พบในภาคกลางไม่ เพราะยังคงประเพณีมาแต่ครั้งสุโขทัย ในจารึกสุโขทัยไม่มีคำว่า "วัด" แต่มี "อาราม" แทน คำว่า อาราม ยังอยู่ในการรับรู้ของคนทั้งในเขตล้านนาและล้านช้าง ที่หมายถึงวิหารและให้ความสำคัญกับโบสถ์ในฐานะเป็นที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์เท่านั้น ซึ่งต่างกันกับทางภาคกลางที่โบสถ์สำคัญ และวิหารเป็นเพียงส่วนเกิน คุณเล็กเที่ยวบุกไปถึงเขตอำเภอเชียงของริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นพื้นที่สีแดงที่เต็มไปด้วยพวกคอมมิวนิสต์ ได้พบวิหารหลังหนึ่งเป็นวิหารโถงที่มีขนาดใหญ่สร้างแบบโบราณ โดยเข้าเครื่องไม้อย่างไม่มีเหล็กและตะปูเป็นเครื่องยึด อยู่ในสภาพทรุดโทรม เสาวิหารแม้จะมีขนาดใหญ่ แต่ก็ขาดคอดิน ซึ่งทางวัดกำลังจะรื้อถอนและสร้างใหม่ คุณเล็กจึงขอผาติกรรมมา ซึ่งในคราวเดียวกันนี้ก็ได้อาคารไม้รูปสี่เหลี่ยมเป็นอาคารโถงที่ถูกรื้อกองไว้ตามมาด้วย ได้ความว่าเป็นอาคารโบสถ์ที่แต่เดิมสร้างไว้กลางสระน้ำ ที่ในภาษาของคนทั่วไปเรียกว่า โบสถ์น้ำ เมื่อนำมาสร้างที่เมืองโบราณแล้ว ก็เลยขุดสระแล้วปลูกโบสถ์ลงไปกลางน้ำให้อยู่คู่กับพระวิหารมาจนทุกวันนี้

 

 

ดังนั้นเท่าที่กล่าวมานี้ก็พอจะเห็นได้ว่า เมืองโบราณ คือ ผลิตผลของวิวัฒนาการ เริ่มจากการเป็นเมืองจำลองที่ไม่มีโบราณวัตถุสถานแสดง มาเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งขนาดใหญ่ ที่มีของโบราณจริงๆ มาจัดแสดง แต่ไม่ใช่การแสดงแบบนำมาตั้งโชว์บอกอายุสมัยเวลา หากนำมาจัดในเชิงบูรณาการเชื่อมโยงให้เห็นบรรยากาศและความหมายที่สัมพันธ์กับชีวิตวัฒนธรรมของผู้คน ซึ่งการจัดแสดงเช่นนี้ได้นั้น จำเป็นจะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมภูมิทัศน์ และการจัดการตกแต่งภายในที่ลุ่มลึก ความสามารถเช่นนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวคุณเล็ก และเป็นสิ่งที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้เฉพาะตัวบุคคลเป็นสำคัญ การเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งของคุณเล็กไม่เกี่ยวข้องกับรูปแบบและการจัดแสดงที่เป็นสากลตามสูตรของฝรั่ง หากเน้นในเรื่องการทำอะไรก็ได้ที่จะนำข้อมูลจากโบราณสถานวัตถุมาสื่อความหมายเชื่อมโยงให้เป็นความรู้ขึ้นมา โดยเหตุนี้จึงมักมีนักวิชาการและผู้รู้ทางพิพิธภัณฑ์ที่อะไรผิดกรอบตามที่ฝรั่งมองและกำหนดไว้ ก็จะร้องยี้ว่าไม่ได้เรื่อง ไม่มีมาตรฐานอะไรทำนองนั้น เมืองโบราณในระยะแรกจึงถูกเมินโดยคนที่เป็นปัญญาชนแบบตามก้นฝรั่ง แต่น่าประหลาดพวกฝรั่งและชาวต่างประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ฝรั่ง ดูเหมือนให้ความสนใจกับเมืองโบราณมากกว่าคนไทยเสียด้วยซ้ำ จึงมักปรากฏเรื่องราวของเมืองโบราณตีพิมพ์ในนิตยสาร ดังๆ ของทั้งทางยุโรปและอเมริกาอยู่เนืองๆ โดยมักเน้นศูนย์ความสนใจไปที่คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ว่าทำไมถึงคิดและทำเช่นนั้น สิ่งเหล่านี้นับเป็นกำลังใจสำคัญที่ไม่ทำให้คุณเล็กเกิดความท้อแท้ท่ามกลางกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานาของคนไทย แม้แต่หนังสือรีดเดอร์ส ไดเจสท์ ซึ่งเป็นหนังสือให้ความรู้ที่ดีและตีพิมพ์แพร่หลายทั่วโลก ก็นำเรื่องเมืองโบราณไปลงถึงสองครั้งสองครา

 

คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ออกสำรวจร่วมกับอาจารย์มานิตและอจารย์ศรีศักร   วัลลิโภดม

 

คุณเล็กใช้เวลากว่า สิบปีแรกในการสร้างเมืองโบราณ ออกตระเวนรวบรวมโบราณสถานวัตถุที่เป็นเครื่องไม้ที่เป็นสิ่งของทางชาติพันธุ์มาไว้ที่เมืองโบราณ หลาย ๆ อย่างที่รวบรวมไว้ก็ ผุ พังไปก็มี หรือหลายอย่างที่จัดแสดงไว้ก็เสื่อมคุณภาพจนพังไปก็มี เพราะซ่อมแซมอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะเรือใบขนาดใหญ่ที่สร้างด้วยไม้ทั้งลำ เป็นเรือสินค้าที่พบทั้งในอ่าวไทยและทะเล อันดามัน คุณเล็กไปพบเห็นแถวๆ กระบี่ และมาหาซื้อได้แถวชลบุรี ซึ่งนำมาตั้งไว้ที่เมืองโบราณเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ว่า เรือใบขนาดที่เป็นเรือเดินทะเลเมื่อ ๕๐ - ๖๐ ปีที่แล้วมานั้นเป็นอย่างไร ปัจจุบันนี้เรือลำนั้น ผุพังไปแล้ว จึงสร้างเรือใหม่คล้ายเรือสำเภาขึ้นมาแทน นอกจากการรวบรวมของเก่ามาตั้งใหม่ที่เมืองโบราณแล้ว ก็ยังมีอาคารไม้ทั้งที่เป็นศาสนสถานและที่อยู่อาศัยหลายแห่งที่ได้นำรูปแบบของเดิมมาสร้างขึ้น โดยมีขนาดเท่าของจริงหรือย่อมกว่าเล็กน้อย อย่างเช่นเรือนทับแก้ว คุ้มขุนช้างขุนแผน และเรือนตำหนักต้นของรัชกาลที่ ๕ รวมทั้งศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม ที่เพชรบุรี ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งในการสร้างสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในเมืองโบราณ ก็คือ การศึกษาหารูปแบบของเดิมจากร่องรอยของเก่าที่เหลืออยู่ เช่น พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท อันเป็นพระที่นั่งสำคัญของกรุงศรีอยุธยา มาสร้างใหม่ให้คนได้เห็นรูปเต็มที่ แท้จริงกว่าจะทำขึ้นมาได้ผ่านการศึกษารวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ และการประเมินความคิดเห็นของนักวิชาการผู้รู้ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และวรรณกรรม อีกมากมาย พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท คือ สิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของกรุงศรีอยุธยาโดยแท้ เป็นพระที่นั่งแบบมีมุขสั้นมุขยาวที่ไม่มีในพระบรมมหาราชวังกรุงรัตนโกสินทร์ ในขณะที่พระที่นั่งสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท อันเป็นพระที่นั่งแบบจตุรมุข

 

 

อย่างไรก็ตาม ความเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งของเมืองโบราณนั้น หาได้อยู่แต่เพียงนำสิ่งที่เป็นรูปธรรมมาจัดแสดงอย่างที่กล่าวมาแล้วไม่ หากขยายมาเป็นเรื่องของนามธรรม เช่น ประเพณี ความเชื่อและพิธีกรรม การค้นคว้าและสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่คุณเล็กกระทำอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสิ้นอายุขัยของท่าน เป็นสิ่งที่นำท่านไปสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับบรรดาศิลปินและช่างฝีมือหลาย ๆ สาขาที่เกี่ยวข้องหลายท่าน โดยเฉพาะอาจารย์สนั่น ศิลากร ผู้เป็นประติมากรเอกของเมืองไทย คุณเล็กเห็นว่าระบบความเชื่อในเมืองไทยนั้น ไม่ใช่มีแต่พุทธอย่างเดียว มีทั้งพราหมณ์ อิสลาม คริสต์ และการถือเจ้าถือผีอีกมากมาย จึงหาทางแสดงสิ่งเหล่านี้ไว้ตามที่ต่าง ๆ ของเมืองโบราณ ดูเหมือนสถานที่สำคัญอยู่ที่เทวโลก อันจัดให้เป็นที่แสดงรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ เช่น พระนารายณ์ พระอิศวร พระพรหม และเทพเจ้าประจำวัน อันได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระพุทธ พระเสาร์ เป็นต้น คุณเล็กเป็นผู้จินตนาการแต่งสวนเทวโลก และเชิญให้อาจารย์สนั่นปั้นรูปเคารพของเทพเจ้าเป็นส่วนใหญ่ เป็นรูปเคารพหล่อสำริดที่สวยงามและมีพลัง จนกล่าวได้ว่ารูปปั้นเทพเจ้าที่สวนเทวโลกเมืองโบราณ คือ แหล่งที่เก็บงานประติมากรรมสำคัญในบั้นปลายชีวิตของอาจารย์สนั่น ศิลากร ไว้ก็ได้ ซึ่งนอกจากรูปปั้นแล้ว อาจารย์สนั่นยังได้ฝากฝีมือในเรื่องจิตรกรรมฝาผนังไว้ที่พระที่นั่งสรรเพชญด้วยเรื่องนารายณ์สิบปาง และภาพชาดกพระเจ้าห้าร้อยห้าสิบชาติที่วิหารสุโขทัย ต่อจากการสร้างสวนเทวโลก คุณเล็กขยายผลงานและจินตนาการไปสร้างสวนรามเกียรติ์ สวนพระอภัยมณี สวนไกรทอง และสวนขุนช้างขุนแผน อีกหลายแห่งในเมืองโบราณ เพื่อให้ผู้คนมาชมได้เรียนรู้ถึงวรรณคดีแท้ๆ ของไทย รูปปั้นตามสวนเหล่านั้น คุณเล็กได้เปิดโอกาสให้บรรดาศิลปินรุ่นเล็กๆ ในขณะนั้นมาแสดงผลงาน โดยที่ปล่อยให้แสดงความคิดเห็นและแสดงฝีมืออย่างเป็นอิสระ หลาย ๆ คนในบรรดาศิลปินเหล่านั้น คือ ศิลปินอาวุโสในปัจจุบัน เช่น ศาสตราจารย์ ธนะ เลาหกัยกุล ที่ได้ไปทำงานในอเมริกาและได้รับการยกย่องเป็นอย่างดี

 

ประติมากรรมสำริดชุดเทวโลก เป็นงานชิ้นสำคัญที่อาจารย์สนั่น ศิลากร

ฝากฝีมือไว้ ณ เมืองโบราณ

 

ดูเหมือนงานจินตนาการในสิ่งที่เป็นนามธรรมของคุณเล็กต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด เพราะในบั้นปลายชีวิตประมาณ ๗ ปีก่อนสิ้นอายุขัย ได้ขยายพื้นที่ของเมืองโบราณจากที่มีอยู่เดิม ๖๐๐ กว่าไร่ ออกไปอีก ๒๐๐ กว่าไร่ รวมกว่า ๘๐๐ ไร่ เพราะที่เดิมเต็มไปด้วยการสร้างสิ่ง ต่าง ๆ ทางศิลปวัฒนธรรมจนหมดสิ้น บริเวณพื้นที่ใหม่นี้เรียกว่า "ปลายนา" เพราะเป็นทุ่งนาโล่ง ๆ ได้ขุดคลองและหนองน้ำเพื่อปันเขตเป็นที่จัดแสดงเรื่องราวทางประเพณีและความเชื่อ ที่โดดเด่น ก็คือ เทวรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่ปัจจุบันเรียก พระกวนอิม ซึ่งเป็นที่เคารพกราบไหว้ของคนทั่วไปในปัจจุบัน เป็นเทพแห่งเมตตาธรรมที่จรรโลงโลกและรักษาพระศาสนาของพระสมณโคดมพุทธเจ้า นับเป็นพระเทพองค์สำคัญในพุทธมหายานที่คนทั่วไปรู้จักมากที่สุด แพร่หลายจากอินเดียไปสู่จีนและบ้านเมืองทางตะวันออกไกล คุณเล็กมีรูปเคารพพระกวนอิมที่เป็นของโบราณสมัยราชวงศ์สุย คือ ราว ๑๐๐ กว่าปีมาแล้ว ซึ่งในช่วงเวลานั้นพระกวนอิมยังมีลักษณะเป็นบุรุษอยู่ เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นสตรีในสมัยราชวงศ์เหม็ง จึงได้สร้างรูปพระกวนอิมขนาดใหญ่ด้วยไม้แกะสลักจากรูปเคารพที่มีอยู่ เพื่อให้คนได้กราบไหว้บูชาและรู้จักที่มาของพระกวนอิม ที่ผู้คนรู้จักเพียงการเป็นเทพสตรีหรือเจ้าแม่ ถัดจากพระกวนอิมก็เป็นเรื่องของเขาพระสุเมรุในไตรภูมิ ซึ่งเป็นความเชื่อในเรื่องจักรวาลของคนไทยและคนพุทธทั่วไป ที่มักปรากฏเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์หรือพระวิหารของวัด คุณเล็กมีจินตนาการให้เด็กได้เรียนรู้อย่างสนุกและได้สิ่งที่เป็นคติธรรม จึงสร้างเขาพระสุเมรุบนหลังปลาอานนท์กลางสระน้ำที่สมมติให้เป็นนทีสีทันดร แต่บนยอดเขาพระสุเมรุเป็นปราสาทว่างเปล่า ไม่มีพระอินทร์ ซึ่งเป็นพระราชาแห่งเทพในทางพระพุทธศาสนา หากมีบัลลังก์เปล่าๆ ตั้งอยู่ ได้ถูกสมมติให้เป็นพระแท่นบัณฑุกัมพลที่อ่อนและแข็งได้ สำหรับที่พระอินทร์จะทรงรู้สึกเมื่อเวลาเกิดสิ่งที่ดีหรือไม่ดีในโลกมนุษย์ ตามคติทางไตรภูมิ พระอินทร์ซึ่งเป็นราชาแห่งเทพเจ้านั้น เป็นตำแหน่งของผู้ที่ประพฤติธรรม ซึ่ง บำเพ็ญตบะและบารมีที่สูงจนได้รับการยกย่อง เพราะฉะนั้นบุคคลที่มีคุณธรรมและประพฤติในสิ่งที่ดีงามทุกคน ก็มีโอกาสได้ขึ้นไปนั่งบนแท่นนี้เช่นเดียวกับพระอินทร์ ความคิดนี้คุณเล็กได้นำไปสานต่อที่ปราสาทสัจธรรมที่กำลังสร้างอยู่ที่พัทยา เพื่อให้ตรงใจกลางปราสาทมีพระแท่นเช่นเดียวกันกับปราสาทบนยอดเขาพระสุเมรุ

 

สวนรามเกียรติ์ไม่เพียงให้ความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมสำคัญของไทย 
แต่ยังเป็นผลงานประติมากรรมของศิลปินที่คุณเล็กให้การอุปถัมภ์เพื่อสร้างงานศิลปะ

 

จากเรื่องทางศาสนาและคติธรรม คุณเล็กอ่านและนำสาระสำคัญทางวรรณคดีไทยมาจินตนาการสร้างสิ่งที่เป็นรูปธรรมในบริเวณปลายนาอีกหลายอย่าง เช่น ขบวนเรือพยุหยาตราทางน้ำที่มีอยู่ในพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ สร้างแต่เรือให้เห็นขบวน แต่ไม่มีคน เพื่อให้จินตนาการเอาเอง สร้างศาลาฤาษีดัดตนจากโคลงกลอนในวรรณกรรมโบราณ ซึ่งก็รวมไปถึงสวนและศาลาต้นไม้ทางวรรณคดี เพื่อให้คนรุ่นใหม่ ๆ ได้เรียนรู้ แต่สิ่งที่ฝังใจที่คิดทำอยู่เสมอ ก็คือ ทำอย่างไรจะกระตุ้นให้คนปัจจุบันมีสำนึกทางคุณธรรมและประพฤติสิ่งที่ดีงาม ดังเห็นได้จากงานชิ้นสุดท้ายของคุณเล็กที่สร้างยังไม่เสร็จในพื้นที่ใหม่ปลายนาของเมืองโบราณ คือ วิหารห้าร้อย อรหันต์ เพื่อกระตุ้นให้คนที่ใฝ่ในธรรมะเข้าใจว่า ผู้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์นั้นมีอยู่เรื่อย ๆ หามีเพียงแต่ ๕๐๐ องค์ไม่ หากคำว่า ห้าร้อยนั้น บ่งแสดงการเป็นจำนวนทางสัญลักษณ์เท่านั้น

 

ศาลาพระอรหันต์ งานชิ้นสุดท้ายของคุณเล็ก

 

วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ. ศ. ๒๕๔๓ คุณเล็กจากโลกนี้ไปอย่างสงบ ฝากคำพูดที่ข้าพเจ้ามักได้ยินอยู่เสมอว่า ท่านชื่อเล็ก แต่ชอบทำสิ่งใหญ่ ๆ เพราะฉะนั้นเมืองโบราณ จากจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงเมืองจำลองเล็ก ๆ จนมากลายเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ใหญ่ระดับโลก อย่างมีเนื้อหาสาระที่ทำให้คนรุ่นใหม่ และเด็ก ๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจสิ่งที่เป็นพื้นฐาน (basic) ทางสังคม และวัฒนธรรมของไทยและของคนตะวันออกนั้น คือ ผลงานชิ้นหนึ่งในชีวิตท่าน ทว่าท่ามกลางความคิดในเรื่องจะทำอะไรใหญ่โต ที่ไม่ใช่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่กลวงและพองลมนั้น คุณเล็กมักจะพูดและเตือนลูกหลานและคนแวดล้อมเสมอว่า ไม่ว่ามนุษย์จะทำอะไรได้ใหญ่โต ก็ไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน เป็นแต่เพียงเสี้ยวหนึ่งของเวลาในจักรวาล และตัวตนเองก็เพียงละอองธุลีหนึ่งในปรภพเท่านั้น

 

          พี่พ่างเรณูน้อย  แหมะหล้า ฤาทนง
ทิวาสวรรค์ขวัญโลกโอ้ อังสุมาลย์ พี่อา
จันทร์จรัสรัติยาระหาน หิ่งห้อย
ดงแอร่มแจ่มโพยมปาน  พวงเพชร์ ประไพเอย
พี่พ่างเรณูน้อย แหมะหล้า ฤาทนง 
อัพเดทล่าสุด 17 พ.ย. 2559, 15:00 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.