หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
“ เมืองโบราณ ” ความหมายที่หลากหลายของผู้คนบนแผ่นดินสยาม
บทความโดย ปิยชาติ สึงตี
เรียบเรียงเมื่อ 28 ม.ค. 2559, 15:03 น.
เข้าชมแล้ว 27023 ครั้ง

“ เมืองโบราณ ”

ความหมายที่หลากหลายของผู้คนบนแผ่นดินสยาม

 

“ เมืองโบราณคือเมืองในอดีต อดีตคือช่วงเวลาที่ผ่านไป ช่วงเวลาที่ผ่านไปย่อมต้องมีช่วงเวลาที่ติดตามมา ความแตกต่างอยู่ที่ถึงก่อนถึงหลังเท่านั้น เช่นเดียวกับพระอาทิตย์ พระจันทร์ ต่างผลัดกันให้แสงสว่าง เกิดวัน เดือน ปี ปรากฏการณ์ทั้งหลาย ย่อมไม่มีจุดเริ่มต้นให้เห็นได้ เป็นวัฏฏะที่หมุนเวียน เหตุวันนี้ย่อมสืบเนื่องมาจากเมื่อวานนี้ การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ย่อมมาจากวันนี้ ฉะนั้นเรื่องของอดีต คนปัจจุบันจำเป็นจะต้องรู้ หากเราไม่รู้จักอดีตก็เหมือนเดินเรือในท้องทะเลโดยปราศจากเข็มทิศและหางเสือ ผลที่จะเกิดขึ้นกับเรือลำนั้นเป็นที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง 

 

แผนที่เมืองโบราณ มีลักษณะคล้ายกับแผนที่ประเทศไทย

ประไพ  วิริยะพันธุ์ :ตัดตอนบางส่วนจาก “วัตถุประสงค์การสร้างเมืองโบราณ” 

 

ดินแดนที่เรียกว่าประเทศไทยอย่างในปัจจุบัน เดิมเป็นที่รู้จักของคนภายนอกในชื่อของ “ สยาม ” ( Siam ) ปรากฏอยู่ในแผนที่โบราณหลายฉบับซึ่งเขียนขึ้นโดยชาวต่างชาติ ตลอดจนบันทึกของคนต่างชาติที่เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยา ยังได้กล่าวถึงความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเกาะเมืองอยุธยา

 

ภาพสถานที่มุมกว้าง ภายในอาณาบริเวณกว่า ๖๐๐ ไร่ ของเมืองโบราณ สมุทรปราการ

 

แล้วประเทศไทย ความเป็นไทย คนไทย รวมทั้งหมดทั้งปวงเกี่ยวกับ “ ไทย ” ไยคำสั้น ๆ ซึ่งเปล่งเสียงเพียงพยางค์เดียวจึงเข้ามีอิทธิพลต่อการดำเนินวิถีชีวิตของคน (ไทย) อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ มากนัก ทั้งที่เรื่องราวทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นมาไม่เกินกว่า ๗ ทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น แต่กลับทำให้ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ภายในดินแดนแห่งนี้ต้องสูญหาย และถูกกลืนกลายไปสู่ความเป็น “ คนไทย ” แบบต่าง ๆ ไม่ว่าเป็นไทยโซ่ง ไทยรามัญ ไทยมุสลิม ไทย...ฯลฯ (น่าแปลกไม่มีคนไทยจีน มีแต่คนจีนเชื้อสายไทย) อันละทิ้งความหลากหลายที่มีอยู่เดิมให้มลายหายไป ภายใต้วาทกรรมคำโต ๆ ว่า “ ความเป็นไทย ”

 

เหตุนี้แนวคิดส่วนหนึ่งในการสร้างเมืองโบราณของคุณเล็ก จึงไม่ใช่เป็นเพียงการสร้างเมืองจำลองเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว หากเมืองโบราณกลับเป็นดังคำที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เรียกว่า “ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ” ที่ย่อเอารูปร่างดินแดนประเทศไทยลงมาไว้บนพื้นที่ ๘๐๐ ร้อยไร่ สถานที่สำคัญต่าง ๆ ที่ถูกรังสรรค์ขึ้น จึงมีจุดประสงค์เพื่อสื่อความหมายของอัตลักษณ์หรือตัวตนของผู้คนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนั้น ๆ

 

ดังสัมผัสได้ในยามเยี่ยมเยือนเมืองโบราณ ด้วยพื้นทั้งหมดนั้นแบ่งออกเป็นภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ โดยมีโบราณสถานสำคัญที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของภาคนั้น ๆ นอกจากนี้ยังไม่ละเลยถึงเรื่องราวที่เป็นตำนาน นิทาน และวรรณกรรมสำคัญในท้องถิ่นต่าง ๆ ด้วยการสร้างประติมากรรมเล่าเรื่องดังกล่าวในพื้นที่ที่จัดเป็นรูปแบบสวน เช่น สวนมโนราห์รา สวนพระอภัยมณี สวนพระลอ ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้ก็เพื่อให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้รับรู้ถึงความหลากหลายอันประกอบกันขึ้นเป็นประเทศสยาม จากกลุ่มคนหลากชาติพันธุ์หลายเผ่าพันธุ์ที่ดำรงอยู่ในแผ่นดิน

 

 

แนะนำสถานที่เข้าชม

พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช

 

พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ณ เมืองโบราณ

 

ที่ตั้งของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกสถาปนาให้กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนสถานของพราหมณ์มาก่อน จนเมื่อนครศรีธรรมราชเริ่มรับพุทธศาสนาแบบมหายาน ก็ได้ปรับเปลี่ยนศาสนสถานของพราหมณ์มาเป็นพุทธมหายาน กระทั่งในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อนครศรีธรรมราชรับเอาพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์เข้ามา จึงได้มีการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้น

 

ความสำคัญประการหนึ่งของพระบรมธาตุเจดีย์ นอกจากเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการหยั่งรากของพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในนครศรีธรรมราชแล้ว พระบรมธาตุเจดีย์ยังเป็นปัจจัยประการสำคัญที่รองรับความชอบธรรมทางการเมืองของผู้ปกครองนครศรีธรรมราชเหนือหัวเมืองอื่นบนคาบสมุทรมลายู ดังปรากฏจากตำนานพระบรมธาตุได้บอกเล่าเรื่องราวเมือง ๑๒ นักษัตร (๑) ส่งผู้แทนเดินเดินทางมาเข้าร่วมบูชาพระธาตุในช่วงเวลาที่มีพิธีกรรมสำคัญ การแต่งตั้งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชที่ส่งมาจากราชสำนักส่วนกลาง คือ อยุธยาหรือกรุงเทพฯ พร้อมพระสุพรรณบัฏ ต้องทำพิธีรับมอบกันบริเวณวัดพระมหาธาตุ หรือแม้กระแสความนิยมจตุคามรามเทพที่ผ่านมา ผู้ริเริ่มได้ผูกเรื่องราวขององค์จตุคามรามเทพไว้กับพระบรมธาตุเจดีย์

 

การบูชาพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชก็มีความแตกต่างจากการบูชาพระบรมธาตุในภูมิภาคอื่น ๆ คือ มีการถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองเฉกเช่นเดียวกับจารีตการปกครองระหว่างหัวเมืองประเทศราชกับศูนย์อำนาจ ซึ่งบันทึกของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ( V.O.C ) มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) เดินทางลงมาจัดการเรื่องปัญหาส่วยดีบุกในนครศรีธรรมราช และก่อนเดินทางกลับอยุธยาได้ถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองแก่พระบรมธาตุเจดีย์

 

ความศรัทธาของผู้คนต่อพระบรมธาตุเจดีย์ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพียงคนนครศรีธรรมราชหรือใกล้เคียงเท่านั้น คนไทยในต่างแดนโดยเฉพาะที่ไทรบุรี หรือกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ก็ยังนิยมเดินทางมาไหว้พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชด้วย

 

หากท่านผู้อ่านได้มีโอกาสได้ไปนครศรีธรรมราชและนั่งรถสองแถวผ่านหน้าวัดพระมหาธาตุแล้ว ก็ไม่ต้องตกใจที่ผู้โดยสารทั้งคันยกมือขึ้นพนมไหว้พระบรมธาตุ ไม่เว้นแม้แต่คนขับรถเลยทีเดียว !

 

ตลาดน้ำ – ตลาดบก

ตลาด [ตะหฺลาด] น. ที่ชุมนุมเพื่อซื้อขายของต่าง ๆ ; ( กฎ) สถานที่ซึ่งปรกติจัดไว้ให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ชุมนุมเพื่อจําหน่ายสินค้าประเภทสัตว์ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ หรืออาหารอันมีสภาพเป็นของสด ประกอบหรือปรุงแล้ว หรือของเสียง่าย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการจําหน่ายสินค้าประเภทอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม และหมายความรวมถึงบริเวณซึ่งจัดไว้สําหรับให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ชุมนุมเพื่อจําหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าวเป็นประจํา หรือเป็นครั้งคราว หรือตามวันที่กําหนด

 

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒

ความหมายของ “ ตลาด ” ตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ข้างต้น ทำให้เห็นภาพของตลาดที่มีบรรดาพ่อค้าแม่ขายนำเอาสินค้ามาวางขายแลกเปลี่ยนกัน และทุกวันนี้วิถีชีวิตของเราท่านทั้งหลายก็ยังต้องเกี่ยวข้องกับตลาดอยู่เสมอ จะต่างกันบ้างก็ลักษณะของตลาดเท่านั้น ไม่ว่าเป็นตลาดนัด ตลาดสด หรือซูเปอร์มาร์เก็ต

 

ตลาดน้ำ เมืองโบราณ ตลาดบก เมืองโบราณ 

 

สำหรับตลาดน้ำ – ตลาดบกภายในเมืองโบราณตามเจตคติของคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ หาได้จำกัดอยู่เพียงสถานที่ที่มีพ่อค้าแม่ขายเข้ามาวางของขายและมีผู้ซื้อเข้าไปเดินเลือกซื้อจับจ่ายใช้สอยเท่านั้น หาก “ ตลาด ” กลับเป็นสถานที่รวมของกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ศาสนาที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่และสังคมเดียวกัน จะแตกต่างกันก็เฉพาะรูปแบบอันเหมาะสมต่อภูมินิเวศของท้องถิ่นนั้น ๆ ว่าเป็นเช่นไร หากอยู่ที่ดอนก็สร้างเป็นตลาดบก ส่วนพื้นที่ราบลุ่มน้ำทำเป็นตลาดน้ำ ซึ่งมีพื้นที่จับจ่ายใช้สอยลอยอยู่บนท้องน้ำ ตลาดจึงมีนัยความหมายของการปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนข่าวสาร ควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม ตลอดจนบอกเล่าถึงภูมินิเวศและชีวิตวัฒนธรรมของคนถิ่นนั้น ๆ ผ่านสินค้าอันหลากหลายอีกด้วย

 

 พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท - พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

จุดประสงค์ของการสร้างพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทและพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทของคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย ที่ไม่เพียงเป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครองเท่านั้น สถาบันกษัตริย์ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในสังคมไทยอีกด้วย

 

 

 

พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท

การสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นศูนย์กลางอำนาจลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มอำนาจใหญ่ ๒ กลุ่มในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กลุ่มอำนาจราชวงศ์อู่ทองแห่ง อโยธยา กับกลุ่มอำนาจราชวงศ์สุพรรณภูมิแห่งสุพรรณบุรี

 

ในช่วงเวลากว่า ๖ ทศวรรษแรกของประวัติศาสตร์การเมืองอยุธยาจึงอยู่ภายใต้การแก่งแย่งอำนาจระหว่าง ๒ กลุ่มการเมืองนี้ จนกระทั่งยุติลงด้วยชัยชนะของราชวงศ์สุพรรณภูมิภายหลังการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์) ต่อจากนั้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ซึ่งอยุธยาแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น และสามารถยกทัพไปตีเมืองพระนครสำเร็จ สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจอันมั่นคงขึ้นของกรุงศรีอยุธยาที่มีต่อบ้านเมืองรอบข้างในขณะนั้น เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นครองราชย์ จึงมีการปฎิรูปจัดระบบการปกครองแต่เดิมให้เป็นระบบระเบียบเพื่อรองรับการขยายตัวของพระราชอำนาจ

 

ส่วนทางด้านกายภาพภายในราชธานีได้มีการสร้างพระราชวังขึ้นใหม่ โดยแบ่งพื้นที่พระราชวังออกเป็น ๒ ส่วน คือ เขตพุทธวาสและเขตที่ประทับ สิ่งก่อสร้างหนึ่งภายในพระราชวังใหม่ที่มีความยิ่งใหญ่อย่างมาก คือ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท อันเป็นการแสดงออกถึงสัญลักษณ์ประการสำคัญต่อความมั่นคงของกลุ่มราชวงศ์สุพรรณภูมิในอยุธยา นอกจากนั้นแล้วการที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสามารถสร้างพระที่นั่งที่มีความยิ่งใหญ่ได้เช่นนี้ ย่อมสะท้อนถึงอำนาจของอยุธยาแผ่ออกไปควบคุมบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างมั่นคง และสามารถรวบรวมทรัพย์จากส่วยอากรตลอดจนการค้า จนมีกำลังมากพอสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เช่นนี้ได้

 

พระที่นั่งสรรเพชญปราสาทจึงเปรียบเสมือนกับสัญลักษณ์ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของบ้านเมืองลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งต่อมากลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของบ้านเมืองในดินแดนนี้ ตลอดจนสืบเนื่องมาสู่สมัยหลัง

 

 

 

 

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

การสถาปนากรุงเทพเป็นราชธานีแห่งใหม่ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสร้างกรุงเทพฯ ขึ้นภายใต้แนวคิดที่ต้องการสืบเนื่องความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยามาไว้ที่ราชธานีใหม่ โดยแบ่งผังพระบรมมหาราชวังที่สร้างออกเป็น ๒ ส่วนเช่นเดียวกับพระราชวังเดิมที่อยุธยา มีวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นเขตพุทธาวาส และพระที่นั่งองค์ต่าง ๆ เป็นที่ประทับ โดยเฉพาะเมืองโบราณได้เลือกสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งเป็นพระที่นั่งที่เก่าแก่ที่สุดในพระบรมมหาราชวัง ด้วยเป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ การก่อสร้างแม้จะมีขนาดเล็กกว่าพระที่นั่งองค์จริง แต่พยายามรักษารูปแบบเดิมที่เชื่อว่าเป็นลักษณะครั้งรัชกาลที่ ๑ อีกทั้งภายในยังเขียนภาพจิตรกรรมแบบไทยประเพณี ที่บอกเล่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ อันเป็นราชภารกิจของพระมหากษัตริย์ เช่น การสงครามขับไล่พม่า การปราบปรามหัวเมืองใกล้เคียง การทำนุบำรุงพระราชอาณาจักร ติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศ ตลอดจนงานพระราชพิธี ๑๒ เดือน ซึ่งล้วนเป็นพระราชพิธีทำกันมาแต่สมัยอยุธยาและมีความหมายในการสร้างบูรณการทางสังคมและวัฒนธรรมแก่บ้านเมือง

 

การสร้างพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทเป็นสิ่งก่อสร้างแห่งแรก ๆ ที่เมืองโบราณไม่ได้สร้างขึ้นโดยถ่ายแบบมาจากสิ่งก่อสร้างที่มีให้เห็นอยู่เดิม แต่เกิดขึ้นจากการค้นคว้ารวบรวมหลักฐานทั้งจากของไทยและต่างชาติ ที่มีการกล่าวถึงลักษณะรูปร่างของพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทไว้ ตลอดจนรูปแบบของโบราณวัตถุสมัยอยุธยาที่มีทรวดทรงคล้ายคลึงกัน เมื่อรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ นานาขึ้นมาได้แล้ว จึงนำไปให้คณะกรรมผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบจนเชื่อมั่นว่าใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด จึงเริ่มการก่อสร้าง

 

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทก็เช่นเดียวกัน แม้ว่ามีสถานที่จริง แต่เนื่องจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทรูปแบบเดิมสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ถูกฟ้าผ่าจนไฟไหม้เสียหายอย่างมากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะขึ้นใหม่ จนทำให้รูปแบบศิลปะเดิมของช่างสมัยรัชกาลที่ ๑ ถูกเปลี่ยนแปลงไป

 

เมื่อคุณเล็กมีความประสงค์สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้น จึงต้องมีการรวบรวมหลักฐานเพื่อตรวจสอบรูปแบบศิลปะเดิมขององค์พระที่นั่งฯ ก่อนทำการก่อสร้าง นอกจากนั้นแล้วยังได้เพิ่มเติมเสาหานรับยอดกลางปราสาท ซึ่งถูกตัดออกไปสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เหมือนดังเดิมมากที่สุด

 

หอคำ ลำปาง

           

 

 

หอคำ เป็นภาษาเหนือมีความหมายว่า หอทองคำ หรือปราสาททองอันเป็นที่อยู่ของเจ้าผู้ครองนคร เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเมืองทางภาคกลางแล้ว หอคำจึงเปรียบได้กับพระราชวังซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการปกครองและการบริหารของบ้านเมือง ด้วยลักษณะของโครงสร้างทางการเมืองสมัยนั้น ไม่มีสถานที่ทำการขุนนางหรือราชการเช่นกระทรวง ทบวง กรม อย่างปัจจุบัน

 

หอคำจึงเป็นมากกว่าที่พำนักของเจ้าเมือง หากยังเป็นสถานที่ที่เจ้าเมืองใช้ในการบริหารบ้านเมืองและประชุมเหล่าขุนนางต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นที่ชาวบ้านชาวเมืองสามารถเข้ามาร้องเรียนร้องทุกข์กับเจ้าเมืองอีกด้วย

 

หอคำในเมืองโบราณสร้างขึ้นตามรูปแบบของหอคำของเจ้าผู้ครองนครลำปางสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีผู้ถ่ายภาพไว้ โดยใช้ไม้ขนาดใหญ่สร้างเป็นเรือนไม้เครื่องสับของภาคเหนือ ใต้ถุนสูง

 

วัดจองคำ

 

 

 

 

ไทใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งมีถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ไปจนถึงรัฐฉานของประเทศพม่าปัจจุบัน วัดจองคำเป็นสัญลักษณ์สำคัญของคนไทใหญ่ ซึ่งมักตั้งชื่อวัดสำคัญของบ้านเมืองว่า “ วัดจองคำ ” โดยมีลักษณะเด่นอยู่ที่เขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาสเชื่อมต่อกันอยู่ภายในอาคารหลังเดียวกัน ไม่แยกส่วนกันออกไปเช่นเดียวกับวัดภาคอื่น ๆ เนื่องด้วยเป็นชุมชนที่มีพระสงฆ์น้อย หน้าที่ในการดูแลวัดและพระสงฆ์จึงอยู่ที่ชาวบ้านที่อาศัยรอบวัดร่วมช่วยกันดูแล

 

ลักษณะโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับวัดของผู้คนในภาคเหนือ มีการเกื้อหนุนในรูปแบบของ “ ศรัทธาวัด ” ซึ่งมีการสืบทอดต่อเนื่องกันทางสายสกุลกับวัดนั้น ๆ เมื่อมีงานบุญประเพณีต่าง ๆ กลุ่มศรัทธาวัดไหนก็เข้าไปทำบุญวัดนั้น

 

วัดจองคำแห่งนี้เป็นศิลปะแบบไทใหญ่ที่คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ได้ขอผาติกรรมจากวัดเดิมในอำเภองาว จังหวัดลำปาง เนื่องจากตัวอาคารผุพังจนทางวัดเองไม่สามารถมีกำลังดูแลได้แล้ว เหตุการณ์เมื่อครั้งคุณเล็กได้ไปพบเจอและขอผาติกรรมนำมาไว้ที่เมืองโบราณ อาจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดมเล่าว่า

 

 “ อาคารวัดจองคำ ที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นวัดของพวกไทใหญ่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอาคารไม้สักทั้งหลัง ดูสวยงามและโดดเด่น อีกทั้งเป็นโครงสร้างของวัดไทใหญ่ที่ทำด้วยไม้สักล้วน ๆ ที่ไม่ผสมผสานด้วยฐานอิฐและปูนแต่อย่างใด เมื่อแรกพบอยู่ในสภาพที่โย้เย้ทรุดโทรมใกล้จะพัง พอสอบถามก็ได้ความว่าไม่มีใครใส่ใจที่จะบูรณะ เพราะกำลังเงินของคณะศรัทธาไม่พอเพียง คุณเล็กจึงขอผาติกรรมเพื่อมาเก็บไว้ที่เมืองโบราณ ซึ่งทางผู้ดูแลก็ยินยอม แต่เมื่อทางเมืองโบราณส่งทีมงานขึ้นไปทำผังและเคลื่อนย้าย ก็ถูกต่อต้านโดยคนท้องถิ่นที่มีพ่อเลี้ยงสนับสนุน ไม่ยินยอมและอ้างว่าจะทำการอนุรักษ์ปฎิสังขรณ์เอง คุณเล็กไม่มีความเสียดายและขัดเคืองแต่อย่างใด ตรงข้ามกับพอใจ เพราะถือว่าเป็นส่วนกระตุ้นให้คนท้องถิ่นเห็นคุณค่าที่จะอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของพวกตนไว้

 

 

“ แต่เมื่อเวลาล่วงมา ๒ ปีเต็ม ทางวัดก็แจ้งลงมาว่าไม่มีการอนุรักษ์ปฎิสังขรณ์ใดตามที่มีการเคลื่อนไหวไว้ อาคารวัดก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมจนซ่อมแซมไม่ได้ จึงขอให้ทางเมืองโบราณช่วยไปผาติกรรมมา เพื่อจะได้นำเงินผาติกรรมไปสร้างอาคารใหญ่ที่คงทนกว่า คุณเล็กก็ตกลง แล้วผาติกรรมอาคารเก่าวัดจองคำอย่างพอเพียงกับท้องถิ่นที่จะนำเงินไปสร้างอาคารใหม่ อาคารเก่าวัดจองคำที่ได้มานั้นอยู่ในลักษณะที่หมดสภาพจริง ๆ เหลือส่วนที่คงทนได้เพียง ๒๐ กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยเฉพาะหลังคาที่มุงด้วยสังกะสีแทนของที่เคยมีมาก่อน ก็อยู่ในสภาพที่รุ่งริ่ง ต้องลอกลวดลายสลักที่มีอยู่มาใส่แผ่นไม้ และมุงด้วยหลังคาแป้นเกล็ดให้เหมือนดังเดิม กว่าจะติดตั้งและต่อเติมได้สำเร็จก็ต้องใช้เงินมากกว่าการสร้างอาคารใหม่ทั้งหลังทีเดียว แต่ที่น่ายินดีก็คือ เมื่อเวลาต่อมามีพระและชาวบ้านจากท้องถิ่นเมืองงาวมาเที่ยวเมืองโบราณ พบเห็นและดีใจที่อาคารเก่าวัดจองคำได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี โดยมีการบอกกล่าวให้เห็นชัดเจนว่าเป็นของที่ไปจากเมืองงาว ”

 

พิพิธภัณฑ์ชาวนา

“ ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ” คำกล่าวนี้ฟังแล้วก็คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริง ด้วยเป็นที่รู้ ๆ กันว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศเกษตรกรรม มีสินค้าส่งออกสำคัญคือผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว สามารถส่งออกได้เป็นอันดับหนึ่งของโลกมาแล้ว ผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้ต่างอยู่ภายใต้วัฒนธรรมข้าว กินข้าวกันเป็นอาหารมื้อหลัก

 

ฉะนั้นการปลูกข้าว ทำนา จึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่นำพาประเทศนี้ให้ก้าวเดินต่อไป ในแต่ละภูมิภาคแต่ละพื้นที่มีรูปแบบการทำนาแตกต่างกันไปตามลักษณะภูมิประเทศและภูมิศาสตร์ ทำให้อุปกรณ์ที่ใช้มีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ คุณเล็กจึงมีความสนใจที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์ชาวนาไว้ในเมืองโบราณ เพื่อเก็บข้าวของอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้นานาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ศึกษา อีกทั้งตั้งใจที่จะสื่อให้คนภายนอกรับรู้ว่า เมืองโบราณไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยว แต่เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งซึ่งเก็บบันทึกความหมายทางวัฒนธรรมของดินแดนนี้ไว้ ดังที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์ชาวนาแห่งนี้เป็น “ พิพิธภัณฑ์ทางชาติพันธุ์แห่งแรก ๆ ของเมืองไทยก็ว่าได้ ”

 

 

พระธาตุพนม

พระธาตุพนมเป็นพระธาตุเจดีย์ที่ผู้คนสองฝั่งโขงทั้งไทยและลาวเคารพนับถือ ด้วยเชื่อกันว่าเป็นที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า เดิมองค์พระธาตุพนมมีลักษณะรูปแบบอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานหลงเหลืออยู่ รูปแบบขององค์พระธาตุปัจจุบันสืบเนื่องจากเมื่อคราวพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งนครเวียงจันทร์บูรณะเพิ่มเติม ได้มีการก่อรูปทรงคล้ายลุ้งคว่ำครอบลงไปบนฐานเดิม

 

ในยามมีงานประเพณีบูชาพระธาตุพนม ผู้คนทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาวต่างออกมาร่วมงานบุญกัน โดยมีการขึงสายสิญจน์จากพระธาตุพนมฝั่งไทยข้ามแม่น้ำโขงไปฝั่งลาว เพื่อทำพิธีพร้อมกันอีกด้วย

 

 

 

 

ปราสาทเขาพระวิหาร

 

 

 

คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ สร้างปราสาทเขาพระวิหารขึ้นในเมืองโบราณเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ ภายหลังจากศาลโลกพิพากษาตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของประเทศกัมพูชา พ.ศ.๒๕๐๕ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว หากทว่าหลังผ่านไปกว่า ๔๐ ปี ปราสาทเขาพระวิหารได้กลับมาเกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๕๑

 

ปราสาทเขาพระวิหารตั้งอยู่บนผาเขาที่ยื่นล้ำออกจากเทือกเขาดงเร็ก (พรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน) เข้าไปเหนือแผ่นดินที่ราบต่ำ เริ่มแรกมีฐานะเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์จากการที่พระเจ้ายโศวรมัน ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร (พุทธศตวรรษที่ ๑๕) ทรงได้สถาปนาศิวลึงค์ ณ เทวาลัยเขาพระวิหารให้เป็นศิวลึงค์ศักดิ์สิทธิ์และให้เป็นสถานที่จาริกแสวงบุญ ต่อมาในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖) ได้เริ่มสร้างปราสาทพระวิหารขึ้น ซึ่งมีที่ตั้งแนวลาดเอียงขึ้นไปตามความชันของผา ด้วยลักษณะการสร้างปราสาทเช่นนี้ทำให้ปราสาทเขาพระวิหารมีความโดดเด่นและแตกต่างจากปราสาทเขมรอื่น ๆ กระทั่งมีคำกล่าวที่ว่า “ ในบรรดาศาสนสถานในประเทศกัมพูชาทั้งมว ลไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าศาสนสถานที่เขาพระวิหารมีความโดดเด่นและความงดงามเป็นที่สุด 

 

ความเชื่อเรื่องภูเขาศักดิ์สิทธิ์หรือลัทธิภูเขา (ลัทธิพนม) เป็นความเชื่อที่มีอยู่กลุ่มคนพื้นเมืองเขมรโบราณ โดยมีการสถาปนาภูเขาที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นขึ้นเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่น เช่น บาพนม ที่วยาธปุระ ต่อมาเมื่อกลุ่มชนชั้นปกครองรับลัทธิเทวราชา ซึ่งมีอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์เข้ามาเสริมสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ปกครองว่ามีฐานะเป็นสมมติเทพหรือเทพเจ้า จึงได้มีการนำเอาความเชื่อในลัทธิภูเขาและเทวราชามาเข้ารวมกัน ดังกรณีของกษัตริย์ชัยวรมันที่ ๒ (สมัยอาณาจักรพระนคร) ในประมาณ พ.ศ. ๑๓๔๘ พระองค์ทรงได้สถาปนาพนมกุเลนเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ (ที่ประทับของศิวลึงค์ศักดิ์สิทธิ์) และศูนย์กลางอาณาจักรพระนคร ต่อจากนั้นก็ทรงได้ขึ้นไปประกอบพิธีกรรมรับพระราชอำนาจจากเทพเจ้าในการปกครองเป็นกษัตริย์ที่มีความชอบธรรมในฐานะของเทพ

 

อย่างไรก็ตามอาจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ตั้งข้อสังเกตต่อประเด็นการสถาปนาภูเขาศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมของเทวราชาในอีกด้านหนึ่งว่า “ ...การสร้างปราสาทหรือศาสนสถานใด ๆ ก็ดีหาได้เป็นการแสดงเจตนารมย์เพื่อแสดงอำนาจทางการเมืองเหนือผู้คนในดินแดนนั้น ๆ ไม่ หากเป็นการสยบและให้เกียรติแก่อำนาจศักดิ์สิทธิ์และการสร้างมิตรไมตรีกับผู้คนของดินแดนนั้นด้วย อาจนับเป็นกริยาบุญของบุคคลที่ปรารถนาเป็นจักพรรดิราช อันเป็นเรื่องเฉพาะตนของพระมหากษัตริย์องค์นั้น ๆ มากกว่า... 

 

๑. เมือง ๑๒ นักษัตร คือ รูปแบบการปกครองหัวเมืองของนครศรีธรรมราชในสมัยโบราณ ที่มีการใช้สัญลักษณ์นักษัตรทั้ง ๑๒ แทนเมืองแต่ละเมือง

อัพเดทล่าสุด 17 พ.ย. 2559, 15:03 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.