พระธาตุทอง วัดกองมูคำ ตำบลน้ำทราย รัฐอรุณาจัลประเทศอินเดีย
การสืบพระพุทธศาสนาถือเป็นงานสำคัญของชาวไตคำตี่อย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อ “ท่านวิมาลาติสสะ มหาเถระ” เจ้าอาวาสวัดกองมูคำ เป็นผู้แทนชาวไตคำตี่จากรัฐอรุณาจัลประเทศ เข้ารับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุจากพระหัตถ์สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) เพื่อบรรจุ ณ พระมหาธาตุ วัดกองมูคำ อำเภอน้ำทราย รัฐอรุณาจัล ประเทศอินเดีย ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในเวลา ๑๖.๐๐ น. วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๐การพระราชทานพระบรมธาตุจากสมเด็จพระสังฆราชในครั้งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งไมตรีและความปรารถนาดีแก่ชาวไตคำตี่แห่งอำเภอน้ำทราย รัฐอรุณาจัลประเทศ
ชาวไตคำตี่ที่มาร่วมงานบุญประจำปี
เจ้าอาวาสวัดกองมูคำ ‘ท่านวิมาลาติสสะ มหาเถระ’ และรองมุขมนตรี ‘ฯพณฯ เจ้านา มีอีน (Hon. Chowna Me-In)’ เป็นตัวแทนชาวพุทธจากรัฐอรุณาจัลประเทศ ประเทศอินเดีย เขียนจดหมายขอพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุจากสมเด็จพระสังราชผู้เป็นประมุขสงฆ์สูงสุดจากประเทศไทย และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและในวันที่ ๓๐ ตุลาคมที่ผ่านมาจึงมีการจัดงานฉลองการได้รับพระบรมธาตุนี้โดยประชาชนชาวไตทั้งจากรัฐอรุณาจัลและรัฐอัสสัม โดยแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนหนึ่งบรรจุไว้ในพระเจดีย์ทองและอีกส่วนหนึ่งจัดแสดงไว้ในวิหารเพื่อให้ผู้คนเข้านมัสการกัน โดยฯพณฯ เจ้านา มีอีน (Hon. Chowna Me-In) รองมุขมนตรีรัฐอรณาจัลกล่าวว่า การประดิษฐานพระบรมธาตุครั้งนี้นอกจากจะเป็นการสืบพระศาสนาแล้วเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมของชาวไตคำตี่แห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและชาวไทยจากประเทศไทยซึ่งมีประวัติศาสตร์ตลอดจนวัฒนธรรมร่วมกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศอินเดียและกลุ่มประเทศอาเซียน
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช และท่านวิมาลาติสสะ เถระ
เจ้าอาวาสวัดกองมูคำในวันที่เข้ารับพระราชทานพระบรมธาตุ
รัฐอรุณาจัลประเทศ อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ในที่ราบลุ่มหุบเขาโลหิต เป็นพื้นที่ตีนเขาหิมาลัย [Himalayan Foothills] โดยเป็นสาขาของแม่น้ำพรหมบุตรที่มีต้นน้ำอยู่ในเขตปกครองตนเองทิเบตตัดผ่านเทือกเขาหิมาลัยไปยังหุบเขาในอัสสัมก่อนจะไหลลงไปยังบังกลาเทศซึ่งเรียกกันว่าแม่น้ำยมุนาและไหลรวมกับแม่น้ำคงคาจนกลายเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ก่อนไหลออกสู่ทะเล บริเวณที่คนไตคำตี่ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมลำน้ำสาขาที่อุดมสมบูรณ์ทั้งดินและน้ำ คือลำน้ำติแอ่ง เทงกะปานี กำลัง และเนาดิฮิง มีระบบชลประทานสำหรับการทำนาดำชั้นเยี่ยมที่สืบเนื่องมาจากระบบการทำเหมืองฝายแบบวัฒนธรรมคนไต ซึ่งคนไตคำตี่ที่ตำบลน้ำทรายกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า วัฒนธรรมการทำนาแบบทดน้ำ [Wet Rice Culture] ถือเป็นอัตลักษณ์สำคัญของคนไตคำตี่
พระบรมธาตุที่ได้รับจากประเทศไทยและอัญเชิญไปบรรจุ ณ วัดของชาวไตคำตี่ อรุณาจัลประเทศ
ในทางประวัติศาสตร์กล่าวกันว่า คนไตคำตี่เป็นกลุ่มที่ข้ามเทือกเขาปาดไก่ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง บรรพบุรุษนั้นเดินทางมาจากแถบลุ่มแม่น้ำชินด์วินซึ่งอยู่ในรัฐกะฉิ่น สหภาพเมียนมา แล้วข้ามเทือกเขาปาดไก่อันเป็นชายแดนระหว่างพม่าและอินเดียสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรตีนเขาหิมาลัย โดยกลุ่มเหล่านี้แบ่งเป็น ไตคำตี่ ไตผาเก ไตอ้ายตอนไตคำยัง ในกลุ่มคนไตเหล่านี้เคยตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ด้วยกันบริเวณใกล้กับเชิงเขาปาดไก่ในรัฐอัสสัมปัจจุบันนี้ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมานานนับศตวรรษ โดยมีรูปแบบวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม การแต่งงาน บ้านเรือน เครือญาติ การนับถือศาสนาโดยเฉพาะรูปแบบของวัดแบบ “จอง” และเรียกผู้นำของตนว่า “เจ้าฟ้า” เช่นเดียวกับผู้คนในวัฒนธรรมคนไตหรือไทใหญ่อื่นๆ
กลุ่มคนไตมีเอกลักษณ์เด่นในการดำเนินชีวิตนอกเหนือไปจากการใช้ภาษาพูดที่ใช้ภาษาไตแล้ว บ้านเรือนก็ยังเป็นแบบ “เฮินไต” ที่แบบดั้งเดิมมักใช้ไม้ไผ่ ยกพื้นเรือนสูง มุงหลังคาคลุมที่ทำด้วยใบจากต้นลานสานผูก ทำนาทดน้ำในที่ลุ่มเป็นหลักและเป็นหัวใจอันเป็นอัตลักษณ์ของคนไตในลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร
ชาวไทยและชาวไตคำตี่ในวันรับพระราชทานพระบรมธาตุ ณ วัดราชบพิธฯ
มีผู้สำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ ว่า ภาษาไตคำตี่ [Khamti Language] มีผู้พูดราวๆ ๑๓,๐๐๐ คน ในอินเดียในรัฐอัสสัมและอรุณาจัลประเทศ มีราวๆ ๘,๐๐๐ คน ในพม่าราว ๔,๐๐๐ คน ทางภาษาศาสตร์ภาษาไตคำตี่จัดอยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได กลุ่มภาษากัม-ไท สาขาเบ-ไท สาขาย่อยไท-แสก กล่าวกันว่าการพูดมีสำเนียงคล้ายไตมาว และเขียนโดยใช้ตัวอักษรพม่าหรืออักษรไทคำตี่ ซึ่งเป็นภาษาโบราณที่ใช้อยู่ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่เป็นพระไตรปิฎกหรือบันทึกตำนานอื่นๆ
ปัจจุบันกลุ่มเยาวชนเพื่อสืบทอดวัฒนธรรมไตแห่งวัดจองคำ โดยการสนับสนุนจากสมาคมมรดกทางวัฒนธรรมและวรรณกรรมไตคำตี่ [Tai Youth Association of Chongkham Circle, Tai Khamti Heritage & Literature] ได้เรียบเรียงแบบเรียนภาษาไตคำตี่พื้นฐานสำหรับการศึกษาในระบบโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขออนุญาตจัดการเรียนการสอนและใช้หนังสือเรียนอย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลเท่านั้น
วันแห่อัญเชิญพระบรมธาตุสู่วัดกองมูคำเพื่องานฉลองพระบรมธาตุที่วัด
คนไตคำตี่แห่งรัฐอรุณาจัลประเทศทุกวันนี้ ส่วนใหญ่อยู่อาศัยในบริเวณหุบเขาของลุ่มแม่น้ำโลหิต [Lohit Valley] และอยู่ในเขตตำบลโลหิตและอำเภอน้ำทราย [Lohit and Nam Sai District] มีมุขมนตรีเป็นชาวไตคำตี่จาก “บ้านจองคำ” ที่เป็นหมู่บ้านเก่าแก่และใหญ่ที่สุดในเขตอรุณาจัลประเทศคือ “ฯพณฯ เจ้านา มีอีน (Hon. Chowna Me-In)” ผู้ซึ่งให้ความสำคัญกับการรักษาประเพณีวัฒนธรรม ภาษาพูด ภาษาเขียน การสืบประเพณีพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็งและโดดเด่น ในกลุ่มชาวอัสสัมและไตคำตี่ การพูดภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้เป็นทางการในประเทศอินเดีย และคนส่วนใหญ่พูดได้ดีมากทีเดียว ส่วนภาษาอัสสัมและภาษาไต ถูกมองว่าเริ่มเชยและล้าสมัยสำหรับเด็กๆ เยาวชน การริเริ่มและสร้างแบบเรียนเพื่อการเรียนการสอนภาษาเขียนและพูดในระบบโรงเรียน รวมทั้งการจัดการแสดงและการร่วมกลุ่มทำกิจกรรมเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมของชาวไตคำตี่ จึงดูเหมือนเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับสังคมคนไต
บ้านจองคำอันเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและภาษาของคนไตคำตี่ไว้ด้วย เป็นการริเริ่มโดยฯพณฯ เจ้านา มีอีน (Hon. Chowna Me-In) ในขณะที่ดำรงตำแหน่งฝ่ายการศึกษาของรัฐอรุณาจัลประเทศอีกเช่นกัน มีการเก็บรักษาคัมภีร์โบราณที่เขียนลงบนใบลานและหนังสือที่ทำจากกระดาษสา ซึ่งนำมาเก็บรักษาไว้จากวัดต่างๆ จำนวนมาก ส่วนตามวัดก็มีการทำสำเนาไปไว้ทดแทนตามจองต่างๆ เช่น ที่บ้านมะม่วง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการนำเอาสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ศาสตราวุธแบบโบราณ การจำลองวิถีชีวิตการทำนาดำ หรือแม้แต่การกล่าวถึงการใช้ช้างเพื่อชักลากไม้และใช้ไถนาในช่วงที่ต้องบุกเบิกที่ดินทำกินใหม่ๆ
ฯพณฯ เจ้านา มีอีน (Hon. Chowna Me-In) รองมุขมนตรีรัฐอรุณาจัลประเทศ ชาวไตคำตี่
และเจ้าอาวาสวัดกองมูคำ ท่านวิมาลาติสสะ มหาเถระ
ในพิพิธภัณฑ์ยังเอ่ยถึงผู้นำทางวัฒนธรรมที่เป็นพระสงฆ์สำคัญของชาวไตคำตี่ท่านหนึ่งคือ ท่านศิลาบังสา มหาเถระพระสังฆนายกแห่งอรุณาจัลประเทศ อุปสังฆนายกแห่งอินเดียจากหมู่บ้านมะม่วง วัดมะม่วง ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านจองคำ เมื่อบวชแล้วได้ไปศึกษาพุทธศาสนาที่บังกลาเทศในยุคก่อนที่พระสงฆ์จากสยามวงศ์จะนิยมไปที่พุทธคยาและมีวัดไทยอยู่มากมายเช่นทุกวันนี้ และท่านยังได้ให้ทุนการศึกษาแก่หลานที่กลายมาเป็นพระสงฆ์รูปสำคัญเจ้าอาวาสวัดกองมูคำ คือท่านวิมาลาติสสะ มหาเถระ “วัดกองมูคำ” ที่เพิ่งสร้างโดยการสนับสนุนของฯพณฯ เจ้านา มีอีน (Hon. Chowna Me-In) รองมุขมนตรี และชาวไตคำตี่ทั่วไปและมีคณะชาวไทยไปทอดกฐินทำบุญร่วมสร้างวัด ซึ่งงานฉลองพระบรมธาตุครั้งนี้ก็มีคณะชาวไทยร่วมทอดกฐินเช่นเดิมด้วย