รือเสาะ สังคม วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมในดินแดนตอนในแผ่นดินปัตตานี
โดย นายิบ อาแวบือซา
นำเสนอใน การประชุมวิชาการระดับชาติ สถาปัตย์กระบวนทัศน์ ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๐
วันที่ ๙-๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน
รือเสาะ สังคม วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมในดินแดนตอนในแผ่นดินปัตตานี
คำว่าแผ่นดินปัตตานีนั้นใช้ในเชิงของภูมิวัฒนธรรม ซึ่งคำนี้ไม่ได้มองไปถึงเขตแดนเชิงรัฐศาสตร์
เป็นการมองเชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรมของกลุ่มมลายูปัตตานี ซึ่งกินพื้นที่มากกว่า ๓ จังหวัด
คือ ปัตตานี ยะลา สงขลา เพราะบางส่วนเลยเข้าไปถึงมาเลเซียในเขตเคดาห์ (Kedah) เปรัค (Perak) กลันตัน (Kelantan) ความผสมผสานของกลันตัน
โดยภูมิหลังของคุณนายิบนั้นเป็นคนรือเสาะ จึงถือว่าเป็นการเล่าจากมุมมองของคนใน
ซึ่งอาจมีความแตกต่างจากงานวิจัยเชิงวิชาการของนักวิชาการท่านอื่นที่มานำเสนองานในครั้งนี้
คุณนายิบได้เกริ่นนำว่า
ก่อนที่จะทำความเข้าใจ รือเสาะ สังคม วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมในดินแดนตอนในแผ่นดินปัตตานี นั้นขอฉายภาพให้เห็นพื้นที่คาบสมุทรมลายูโดยให้รายละเอียดว่างานที่ท่านอื่นๆ ยกกรณีศึกษามานำเสนอในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นงานที่ศึกษาจากบริเวณแผ่นดินริมชายฝั่ง ซึ่งเมืองชายฝั่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาประมาณศตวรรษที่ ๑๕-๑๘เพราะเป็นเส้นทางเดินเรือและมีความสำคัญเรื่องเครื่องเทศในยุคนั้น คนมลายูดังกล่าวจึงเป็นลูกผสมทั้งจีน อาหรับ อินเดีย แต่ใช้ในวัฒนธรรมมลายู ซึ่งเราเรียกวัฒนธรรมมลายู ดังน้ันจะหาคนที่เป็น pure ethnic Malayu คิดว่าไม่มี
ความสำคัญของเมืองเหล่านี้ลดลงไปราวประมาณศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งก็จะเริ่มปรากฎความสำคัญของแผ่นดินตอนใน ในยุคที่อยู่ภายใต้สยามที่เป็น ๗ หัวเมืองนั้น เมืองที่เป็นแผ่นดินตอนในที่สำคัญมากๆ นั้นคือเมืองรามันกับเมืองระแงะ ซึ่งคนระแงะส่วนใหญ่อยู่ในตุมปัด (Tumpat) และเจลี (Jeri) ของรัฐกลันตันส่วนรามันนั้นประมาณซักครึ่งหนึ่งอยู่ในเปรัค บริเวณเหล่านี้ที่สำคัญคือเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีทั้งทอง ดีบุก ป่าไม้ ยางพารา
นายิบ อาแวบือซา นำเสนอใน การประชุมวิชาการระดับชาติ สถาปัตย์กระบวนทัศน์ ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๐
วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน
ความสำคัญของทรัพยากรเหล่านี้เกิดขึ้นทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแผ่นดินตอนใน เมื่อความสำคัญของเมืองในเส้นทางเดินเรือเริ่มถดถอยในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๙-๒๐จากแผนที่เก่าซึ่งสันนิษฐานว่าทำขึ้นในช่วงต้นรัตนโกสินทร์นั้น มีการระบุแหล่งทำทอง ดีบุกและกับอีกหลักฐานสำคัญคือแผนที่ของ British ที่ทำขึ้นก่อนการทำสนธิสัญญากับสยาม (Anglo-Siamese Treaty of 1909) จะเห็นได้ว่าไม่ระบุรายละเอียดซึ่งแสดงความสำคัญของทางปัตตานีเลย แต่กลับให้ความสำคัญกับเส้นแม่น้ำสายบุรี ซึ่งมีการระบุชื่อลำธาร ทรัพยากร เส้นทางเดินทางบกอย่างละเอียด ถูกต้องตรงกับข้อมูลจากการตรวจสอบกับพื้นที่ในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนว่าได้มีการสำรวจทรัพยากรสำคัญในดินแดนแถบนี้
หลังสนธิสัญญากับสยามดังกล่าวมีการทำเหมืองดีบุกขนานใหญ่ในเปรัค มีการอพยพเข้ามาอยู่ของคนจีนซึ่งน่าจะมีความรู้ (know-how). แรงงานในการทำเหมืองดีบุกนี้ในปี ค.ศ. ๑๘๗๒ มีคนงานจีนทำเหมืองดีบุกอยู่ประมาณสี่หมื่นคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกวางตุ้ง และฮากกา กับอีกอย่างคือยางพารา
ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ที่มีการระบุว่าพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)นำยางพาราเข้ามาปลูกเป็นต้นแรกของเมืองไทยนั้น ขณะเดียวกันในพื้นที่ดินแดนตอนในแผ่นดินปัตตานีก็มีเรื่องเล่าว่าคนมลายูมีการไปขโมยพันธุ์ยางของฝรั่งที่เปรัคนำมาปลูก เช่น แถวรือเสาะ ศรีสาคร ซึ่งเป็นแผ่นดินตอนใน
ในแผ่นดินตอนในสิ่งที่สำคัญคือเส้นทางคมนาคม มีการใช้แพ เรือ การเดินบก ช้าง รถยนต์ ทางเรือสามารถออกมาทางปากน้ำที่สายบุรี ส่วนเส้นทางเดินบกนั้นจะใช้การเดินทางช่องเขาจากตอนในออกไปทางเบตง เคดาห์ เปรัค และข้ามไปสู่ปีนัง ซึ่งตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่บริติชมีอิทธิพล ทำให้แผ่นดินตอนในค่อนข้างจะมีลักษณะแปลกจากริมฝั่งแม่น้ำอยู่พอสมควรทีเดียว คือจะมีอิทธิพลของฝรั่งค่อนข้างสูง ในสมัยสี่สิบกว่าปีก่อนการรับข่าวสารของผู้คนแถบนั้นคือจะฟังวิทยุของปีนัง สิงคโปร์ ซึ่งเป็นภาษามลายู ภาษาอังกฤษ ทำให้วิธีคิด (mindset) ของคนมลายูตอนในค่อนข้างอ่อนไหว (sensitive) และให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย (Democracy) ค่อนข้างสูงกว่า เพราะจะได้รับข่าวสารโดยอิทธิพลวิธีคิดจากทางบริติชตลอด
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แผ่นดินตอนในมีความสำคัญมากขึ้นคือการเกิดขึ้นของทางรถไฟในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๖ มีเส้นทางรถไฟที่รัฐบาลสยามกู้เงินจากอังกฤษเพื่อสร้างทางรถไฟออกจากสยามทะลุไปมลายา คุณนายิบเล่าว่า สมัยคุณย่าของคุณนายิบจะเอายางพาราบรรทุกรถไฟ โดยออกจากตอนในมาขึ้นสถานีรถไฟที่รือเสาะบรรทุกไปขายที่ปีนัง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในดินแดนตอนในค่อนข้างสูง ขณะที่ดีบุกเป็นแหล่งรายได้สำคัญในกลุ่มของคนจีน ทำให้สามารถส่งลูกหลานไปเรียนทางปีนัง ฮ่องกง
เช่นเดียวกันกับคนมลายู ซึ่งด้วยประชากรน้อย แต่มีที่ดินมาก จึงมีการบุกเบิกที่ดินปลูกยางพารา และด้วยวิถีชีวิตของชาวมลายูตอนในสมัยก่อนซึ่งแทบไม่ได้ใช้เงิน เนื่องจากมีข้าวจากที่นาเชิงเขา ปลาและอาหารต่างๆ สามารถหาได้ตามธรรมชาติ เมื่อมีเงินจึงส่งลูกไปเรียนศาสนาที่ตะวันออกกลาง จึงเกิดโรงเรียนปอเนาะขึ้นในพื้นที่ขนานใหญ่ ซึ่งปัจจัยนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมภายหลัง
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กลุ่มคนที่มีฐานะซึ่งไปเรียนศาสนาที่ตะวันออกกลางก็จะกลับมาสร้างโรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนสอนศาสนาทั่วไปหมดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดทางสังคม กล่าวคือพื้นที่บริเวณนี้เดิมเคยมีความเชื่อเรื่องผี พราหมณ์ พุทธอยู่ก่อนแล้ว เมื่อรับศาสนาอิสลามเข้ามาก็จะเป็นแบบลัทธิซูฟีซึ่งไม่ปฏิเสธหรือตัดขาดจากความเชื่อดั้งเดิม ดังนั้นจึงมีความแตกต่างจากศาสนาอิสลามในแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน
ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มโต๊ะครูกลับมาจากซาอุดิอาระเบียในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ และความเปลี่ยนแปลงด้านศาสนาครั้งใหญ่อีกครั้งคือสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติอิหร่าน รือเสาะก็ได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เช่นเดียวกัน แรกเริ่มนั้นรือเสาะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ริมแม่น้ำ เมื่อเกิดทางรถไฟตัดผ่าน ทำให้เกิดชุมชนรถไฟที่เติบโตขึ้นใหม่ ซึ่งคนท้องถิ่นเรียกว่าจาบ๊ะ ซึ่งเป็นคำจากภาษามลายูแปลว่าร้านรวง ห้างร้าน เส้นทางรถไฟได้นำพาผู้คนหลากหลายเข้ามา มีคนอินเดียจากมลายา มีคนจีนเข้ามา คนมลายูจากปัตตานี เศรษฐกิจของแผ่นดินตอนในขยายตัวมากในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ชุมชนทางรถไฟที่รือเสาะหรือจาบ๊ะดังกล่าวเป็นแหล่งรองรับวัตถุดิบทรัพยากรจากพื้นที่ตอนใน ส่งออกวัตถุดิบต่างๆ ผ่านทางรถไฟไปทางปีนัง กลันตัน จากการสืบค้นเอกสารพบว่ามีการกำหนดพื้นที่ที่เป็นทุ่งนา โรงภาพยนตร์ เป็นชุมชนเล็กๆ ที่เติบโตขึ้น
เอกสารจากกองจดหมายเหตุระบุถึงการเปลี่ยนชื่อเมือง คือจากกิ่งอำเภอตามะงัน ซึ่งเป็นชุมชนรือเสาะเดิมที่อยู่ริมแม่น้ำเปลี่ยนมาเป็นเขตอำเภอรือเสาะ คำว่า "ตามะงัน" เป็นคำในภาษามลายูโบราณ มีความหมายว่า ท่าเรือ ปัจจุบันตรงชื่อตามะงันเดิมได้เปลี่ยนชื่อเป็นไทยว่าบ้านท่าเรือ ตรงนี้มีชุมชนฝั่งแม่น้ำชื่อบ้านดาตง ซึ่งในเอกสารตอนแบ่ง ๗ หัวเมืองก็มีการพูดถึงบ้านดาตง และที่บ้านท่าเรือหรือตามะงันดังกล่าวก็จะเป็นกลุ่มชุมชนของชาวจีนที่มาจากสงขลา มีนามสกุล ณ สงขลาปรากฎอยู่หลายแห่ง สภาพบ้านเรือนจะเป็นเรือนแถวไม้ อยู่กันคนละฟากแม่น้ำ ความเป็นพหุสังคมวัฒนธรรมเดิมเป็นเช่นนี้ คืออยู่เป็นกลุ่มในพื้นที่ใกล้เคียงกัน และมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ลักษณะพหุสังคมวัฒนธรรมที่รือเสาะเช่นนี้ก็ปรากฎในสามจังหวัดภาคใต้ชุมชนอื่นๆ เช่นกัน
ภาพบรรยายกาศในงานการประชุมวิชาการระดับชาติ สถาปัตย์กระบวนทัศน์ ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๐
วันที่ ๙-๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน
การเข้ามาของกลุ่มคนต่างๆ ในรือเสาะทำให้เกิดองค์กรทางสังคมที่ช่วยเหลือกัน เช่น สมาคมอิสลามรือเสาะ มูลนิธิจีนประชานุเคราะห์ ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำงานร่วมกันโดยไม่ได้มีการแบ่งแยก คนจีนซึ่งเป็นพ่อค้าก็จะสามารถพูดภาษามลายูได้อย่างดี คนมลายูก็มีการตั้งชื่อภาษามลายูให้กับคนจีนด้วย
ในด้านชีวิตความเป็นอยู่ เช่น การแต่งกายค่อนข้างจะกระเดียดไปทางสากล ไม่ใช่การแต่งกายแบบฮิญาบในปัจจุบันซึ่งเป็นการแต่งกายที่ได้รับอิทธิพลมาจากการปฏิวัติอิหร่านในช่วงราวๆ ปี ๒๕๓๐ ลงมา หรือตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างมลายูมุสลิมและจีน เช่น การรับคนจีนเป็นลูกเป็นคนในครอบครัวที่ถูกเลี้ยงดูโดยคนมุสลิม ซึ่งความเกื้อกูลในสังคมเช่นนี้ปรากฎอยู่ในหลายๆ พื้นที่ หรือการย้ายมัสยิด การสร้างถนน การยกเรือน กิจกรรมเหล่านี้คนในสังคมก็จะมาร่วมด้วยช่วยกัน เนื่องจากหน่วยงานรัฐยังเข้ามาไม่ค่อยถึง และแรงงานในพื้นที่ก็มีอยู่จำนวนน้อย
จากนั้นคุณนายิบได้ฉายภาพให้เห็นเรือนไม้ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในยุคเก่าๆ ที่ปัจจุบันถูกไฟไหม้หมดแล้ว และนอกจากปัญหาเรื่องไฟไหม้ ความเสื่อมสลายไปตามกาลเวลาของอาคารบ้านเรือนที่ส่งผลต่อการสูญหายของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแล้ว ยังมีเรื่องของการแบ่งมรดกซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากมุสลิมมักจะมีลูกกันหลายคน และในการแบ่งมรดกนั้นบางครั้งจะมีการรื้อเรือนเพื่อขายไม้ หรือขายที่ดินเพื่อจัดสรรมรดก ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้สถาปัตยกรรมเก่าๆ สูญหายไป
นอกจากนี้คุณนายิบยังกล่าวว่าเป็นโอกาสอันดีที่นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมเข้ามาให้ความสนใจสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและเข้ามาช่วยกันทำงานซึ่งเกิดคุณูปการมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการอนุรักษ์กันเองโดยคนในชุมชนอาจจะมีข้อจำกัดบางประการ เช่น อาจขาดกำลังคน และความรู้เชิงวิชาการ
ในส่วนของรูปแบบของสถาปัตยกรรมภายในนั้นค่อนข้างมีความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์นอกเหนือไปจากสถาปัตยกรรมของทางแถบริมฝั่งทะเล ลักษณะที่ปรากฎคือการใช้วัสดุแบบเรียบง่าย เช่นเป็นหลังคามุงจาก ตั้งถิ่นฐานโดยยึดสายน้ำเป็นหลักเนื่องจากสะดวกในการสัญจร มีหลายหมู่บ้านตั้งชุมชนอยู่ทางริมเขา เพราะมีที่ราบลุ่มเชิงเขาขนาดเล็กสามารถทำนาได้ แต่ก็จะไม่ไกลจากสายน้ำมากนัก อาจเป็นลำธารสายเล็กๆ
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือลำธารสายเล็กๆ ดังกล่าวในแผนที่เดิมพบว่าเป็นชื่อในภาษาโอรังอัสลีหรือซาไกซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมในดินแดนแถบนี้ ในการตั้งถิ่นฐานของชุมชนนั้นชาวบ้านมักจะปลูกต้นมะพร้าว หรือมีต้นสาคูในบริเวณชุมชน หากเห็นต้นมะพร้าวแล้วสามารถสันนิษฐานว่าตรงนั้นเคยเป็นชุมชนหรือเป็นบ้านมาก่อน การสร้างบ้านเรือนนั้นจำเป็นมากที่ต้องมีต้นมะพร้าว เพราะเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่าง หรือเวลาเด็กเกิดใหม่นั้นจะมีการฝังรกลงไปในดินและปลูกต้นมะพร้าวทับลงไป ดังนั้นสามารถคาดคะเนได้ว่าเรือนหลังนี้มีลูกกี่คนด้วยการนับต้นมะพร้าว นี้เป็นตัวอย่างของความเชื่อและวิถีชีวิตของผู้คนในดินแดนตอนใน
ตัวอย่างของความเชื่อในศาสนาผี พราหมณ์ พุทธที่ตกค้างก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามา ซึ่งปรากฎอยู่ในสถาปัตยกรรมของดินแดนตอนใน และปัจจุบันถูกอธิบายแบบอิสลาม เช่น คำว่า “กูดงงัน” ในภาษามลายูที่แปลว่าภูเขา มีอีกชื่อที่เรียกแต่อาจไม่ได้รับความนิยมเท่า “กูดงงัน” คือ “สุมารู” ในอินโดนีเซียก็ใช้คำว่าสุมารู ซึ่งก็คือเขาพระสุเมรุนั่นเอง ซึ่งมาจากหนังวายังกูเละก็ยังมีเล่นเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา “กูดงงัน” ที่ปรากฎในสถาปัตยกรรมนี้สันนิษฐานว่ามาจากความเชื่อเดิมเรื่องเขาพระสุเมรุ
นายิบ อาแวบือซา นำเสนอใน การประชุมวิชาการระดับชาติ สถาปัตย์กระบวนทัศน์ ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๐
วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน
จากแท่นธรรมาสน์ซึ่งน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ในส่วนยอดตอนบนยังเห็น “กูดงงัน” หรือในฝาบ้านตรงเหนือซุ้มประตูก็เห็นในรูปของ “กูดงงัน” เห็นมากมาย ตัวอย่างภาพจากมัสยิดที่รือเสาะ ที่รื้อตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๒ หลังคาก็ยังเป็นรูปทรงของภูเขาอยู่ และรูปทรงเช่นนี้ส่วนใหญ่จะไม่ใช้ในเรือน จะใช้ในศาสนสถานหรือพบเห็นอยู่บ้างในศาลา สิ่งที่เจอร่องรอยกูดงงันที่เยอะมากที่สุดคือตรงจั่ว ตรงกลางร่องรอยจะดูเหมือนภูเขา โดยช่างชาวมลายูมุสลิมจะอธิบายเมื่อคุณนายิบถามว่าจั่วดังกล่าวคือภูเขา “ญาบานูส์” ซึ่งเป็นภูเขาอยู่ในเมกกะ คุณนายิบเคยเดินทางไปดูภูเขาลูกดังกล่าวนี้พบว่าเป็นภูเขาที่ไม่มีต้นไม้ แต่ลายภูเขาที่ปรากฎอยู่และช่างอธิบายว่าเป็นภูเขาที่เมกกะนั้นเป็นลวดลายที่มีต้นไม้ปรากฎอยู่ด้วย คุณนายิบจึงสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากเขาพระสุเมรุมากกว่า และเป็นการอธิบายร่องรอยตกค้างเดิมจากความเชื่อที่ตนเองมีอยู่ อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่แผ่นดินตอนในนั้นเวลายังคงเดินช้ากว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลจึงยังมีร่องรอยสิ่งตกค้างเหล่านี้หลงเหลืออยู่ หรืออีกตัวอย่างเช่นตรงหัวเม็ดเสาในสถาปัตยกรรมยังมีคำเรียกว่าสตูปาในศัพท์ช่างของภาษามลายู ซึ่งน่าจะเป็นคำเดียวกับคำว่าสถูปที่ใช้กันในภาษาไทย เป็นต้น
หรือตัวอย่างเรือนโต๊ะป๊อะซึ่งอยู่ในเส้นทางไปอำเภอรามัน จังหวัดยะลา จะเห็นได้ว่ารูปแบบของเรือนในแผ่นดินตอนในจะเรียบง่ายมาก การเลื่อยไม้ตัดไม้ต้องอาศัยเครื่องจักรฝรั่ง เรือนของบ้านเรือนตอนในจะไม่ค่อยพิถีพิถัน โดยสภาพของคนมลายูตอนในจะมีคำเรียกในภาษามลายูว่า “บาราเตา” แปลว่าการเดินทาง ผู้คนตอนในชอบการเดินทาง และจะไม่อยู่เป็นที่มากนัก วิถีชีวิตกลางวันคนจะเข้าป่า ตัดไม้ ไปนา ตอนกลางวันจะใช้ชีวิตอยู่ใต้ถุนเรือน บนเรือนส่วนใหญ่จะเป็นที่นอน ไม่ค่อยได้ต้อนรับแขก การต้อนรับแขกมักจะเป็นแขกที่สนิทมากๆ ซึ่งจะมาอยู่กันเป็นเดือน สำหรับการตะโกนบอกเพื่อขออนุญาตเจ้าบ้านเวลาไปเยี่ยมนั้น ถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่ง เผื่อว่าเจ้าบ้านอาจจะแต่งตัวไม่เรียบร้อย ซึ่งสำหรับมุสลิมนั้นถือว่าจะต้องเตือนเจ้าของบ้านก่อน เป็นการให้โอกาสเตรียมตัว มีงานเขียนซึ่งเป็นข้อความภาษาอาหรับในคัมภีร์อัลกุรอานกล่าวไว้ว่า “ผู้ที่มีศรัทธา ควรจะกล่าวให้คำทักทาย คำอวยพร อัสลามูอาลัยกุม ต่อเจ้าของบ้านก่อน”
อีกลักษณะเด่นหนึ่งที่สำคัญของงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของแผ่นดินตอนในคืองานที่ใช้สีจัดจ้าน มีลวดลายซึ่งต่างจากทางสายบุรี กลันตัน ปัตตานี ไม่ค่อยใช้การแกะสลักแบบจีนคือการใช้สิ่ว จะใช้เครื่องมือฉลุแบบฝรั่ง ในงานสถาปัตยกรรมตอนในนั้นจะเห็นอิทธิพลแบบจีนน้อยมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าในพื้นที่ตอนในไม่มีชาวจีนอาศัยอยู่ ในทางสถาปัตยกรรมจะเห็นถึงความดั้งเดิมแบบดิบๆ ของคนพื้นถิ่นผสมผสานกับอิทธิพลแบบบริติชมลายา
ในท้ายที่สุดนี้คุณนายิบได้กล่าวเชิญชวนทีมวิจัยเข้าไปทำงานพื้นที่ตอนในซึ่งยังมีสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่มีความน่าสนใจเป็นเอกลักษณ์เฉพาะควรแก่การเก็บรวบรวมข้อมูล และต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่มีคุณค่านี้ต่อไป