หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ศาลเจ้ายายหอมเลี้ยงเป็ดกับตำนานพื้นบ้านที่สร้างโบราณสถาน จังหวัดนครปฐม
บทความโดย พชรพงษ์ พุฒซ้อน
เรียบเรียงเมื่อ 29 มิ.ย. 2561, 10:44 น.
เข้าชมแล้ว 59384 ครั้ง

พระประโทนเจดีย์

 

เมืองนครปฐมโบราณเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเมืองในสมัยทวารวดี ตั้งอยู่ในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำ เจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีน โดยมีลำน้ำสายต่างๆ ที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำทั้งสองสายและไหลไปออกทะเลอ่าวไทยทางทิศใต้ ลำน้ำที่สำคัญ ได้แก่ คลองบางแก้ว และ คลองบางแขม ทั้งสองลำน้ำไหลมาจากแม่น้ำแม่กลองแล้วไหลมาจรดที่แม่น้ำท่าจีน  ลักษณะผังเมืองของเมืองนครปฐมโบราณเป็นเมืองสี่เหลี่ยม มุมมนขนาดใหญ่ ตัวเมืองมีความกว้างประมาณ ๒ กิโลเมตรและยาวประมาณ ๓.๖ กิโลเมตร ไม่มีคันดินแต่มีคลองคูเมืองล้อมรอบ  โดยเมืองนครปฐมโบราณพบโบราณสถาน และหลักฐานทางโบราณวัตถุในสมัยทวารวดีเป็นจำนวนมาก

 

ปัจจุบันผู้ที่ผ่านมาจังหวัดนครปฐมก็คงไม่พลาดที่จะไปเยี่ยม ชม “พระปฐมเจดีย์” เจดีย์องค์ใหญ่ที่เป็นศาสนสถานสำคัญและโดดเด่นของจังหวัดนครปฐม สร้างขึ้นครอบพระเจดีย์องค์เดิมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

 

อย่างไรก็ตาม โบราณสถานที่มีขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ที่อยู่ไม่ไกลกับพระปฐมเจดีย์มากนัก คือ “เจดีย์พระประโทณ” พระมหาเจดีย์กลางเมืองโบราณในยุคทวารวดี

 

ในบริเวณพระประโทณเจดีย์นี้มีศาลที่มีตุ๊กตาเป็ดถวายแก้บนอยู่จานวนมาก มีทั้งแบบปูนปั้นกระเบื้องแทนที่จะเป็นตุ๊กตา ไก่หรือหุ่นทหารที่นำมาแก้บนตามที่เห็นบ่อยๆ ตามศาลในหลายที่ ศาลแห่งนี้คือ “ศาลยายหอม” ที่เกี่ยวข้องกับ “ตำนานพระยากง-พระยาพาน” ตำนานท้องถิ่นที่พูดถึงการสร้างพระปฐมเจดีย์และเจดีย์พระประโทณและชื่อบ้านนามสถานที่สำคัญของเมืองนครปฐมโบราณ มีจดไว้เป็นลายลักษณ์ ๓ ฉบับ คือฉบับพิมพ์อยู่ในพงศาวดารเหนือ น่าจะเป็นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดเพราะเป็นเอกสารสมัยอยุธยา และอีก ๒ ฉบับ อยู่ในหนังสือเรื่องพระปฐมเจดีย์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  (ขำ บุนนาค) ได้มาจากตาปะขาวรอตฉบับหนึ่งกับอีกฉบับหนึ่งได้มาจาก พระยาราชสัมภารากร แต่เป็นเรื่องเดียวกัน เจ้าพระยาทิพากรวงศ์จึงคัดรวมขึ้นเป็นเรื่องเดียวกัน

 

พระยากงเป็นผู้ครองเมืองนครชัยศรี (บางแหล่งบอกว่าเป็น เมืองกาญจนบุรี) เป็นกษัตริย์ที่มีความสามารถปกครองบ้านเมืองและประเทศราชอย่างมีความสุข พระองค์และพระอัครมเหสีได้บำเพ็ญทานและรักษาศีลอย่างหนักแล้วตั้งจิตอธิษฐานเพื่อขอบุตรไว้สืบสันตติวงศ์ ต่อมาพระอัครมเหสีได้ตั้งครรภ์และคลอดพระโอรสรูปงามผิวพรรณดี  ซึ่งในพิธีคลอดนั้นได้นำพานไปรองรับพระโอรสแต่ศีรษะของ พระโอรสได้กระทบกับขอบพานทอง เกิดเหตุอัศจรรย์พานทองที่แข็งแรงนั้นบุบยุบลงไป โหรจึงกราบทูลว่าพระราชกุมารนี้มีบุญมากนัก ใจก็ฉกรรจ์ และจะได้เป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระองค์ แต่ในอนาคตพระโอรสองค์นี้จะทำ “ปิตุฆาต”  

 

พระยากงปริวิตกในคาทำนาย จึงมีคำสั่งให้เอาพระกุมารไปฆ่าเสีย ฝ่ายอัครมเหสีได้ติดสินบนเพชฌฆาตให้ฆ่าเด็กทารกอื่นแทน แล้วให้นำพระโอรสของนางไปให้ “ยายหอม” หญิงชาวบ้านผู้มีอาชีพเลี้ยงเป็ดเป็นคนเลี้ยงดู พร้อมให้ตั้งชื่อว่า “พานทอง” ยายหอมซึ่งได้รับคำสั่งของอัครมเหสีจากเพชฌฆาตก็ทำตามด้วยความรักและความเมตตาในชะตากรรมของพระโอรสน้อยผู้น่าสงสาร เลี้ยงดูพระโอรส อย่างดีเหมือนกับลูกของตนเองและได้พาไปฝากเรียนหนังสือกับพระอุปัชฌาย์ผู้เก่งกาจในแถบนั้น จนเมื่อครั้นเจริญวัยใหญ่ขึ้น ยายหอมจึงได้เอาพานทองไปให้พระยาราชบุรีเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม (บาง แหล่งบอกสุโขทัย) และได้รับราชการอยู่กับพระยาราชบุรีจนมีความดีความชอบมากมาย จนได้ขึ้นเป็นอุปราชเมืองราชบุรี 

 

ในปีหนึ่งของเมืองราชบุรีเกิดฝนแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวยากหมากแพง ประชาชนเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่มีเครื่องราชบรรณาการดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองที่จะส่งให้กับนครชัยศรี พระอุปราชพานทองเห็นว่าปีนี้ไม่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้กับเมืองนครชัยศรี เพราะบ้านเมืองของเรากำลังลำบากมาก พระยาราชบุรีบอกว่าทำอย่างนั้นไม่ได้เด็ดขาด  พระอุปราชทรงยืนยันและจะขอต่อสู้และปกป้องเมืองราชบุรีเองหากพระยากงยกทัพมา ฝ่ายพระยากงทราบดังนั้นก็พิโรธจัด จึงสั่งยกทัพบุกตีเมืองราชบุรีที่แข็งขืนไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการและไม่ยอมอ่อนน้อม ยกทัพใหญ่มาตีเมือง ราชบุรีด้วยพระองค์เอง พระอุปราชพานทองจึงอาสายกทัพออกมาสู้ศึก ออกมาสู้กันอยู่ที่แขวงเมืองนครชัยศรี และทั้งคู่ได้กระทำยุทธหัตถี รบกันบนหลังช้าง พระยากงพลาดท่าเสียทีถูกอุปราชพานทองฟันพระศอด้วยของ้าวขาดสิ้นพระชนม์บนหลังช้างศึกกลางสนามรบ ที่อันนัั้นจึงเรียกว่า “ถนนขาด” มาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันอยู่ตำบลถนนขาดทางที่จะไปเนินโบราณสถานดอนยายหอมทางใต้ของเมืองโบราณนครปฐม

 

เมืองนครชัยศรีจึงต้องตกเป็นเมืองขึ้นของราชบุรี  พระยาราชบุรีจึงยกเมืองนครชัยศรีให้พระองค์ปกครอง ซึ่งทรัพย์สมบัติ ข้าทาส บาทบริจาริกา สนมนางใน และพระมเหสีของเมืองนครชัยศรี ก็ต้องตกเป็นสมบัติของพระองค์โดยปริยาย ในวันหนึ่งพระยาพานมีพระประสงค์จะเข้าไปบรรทมกับพระมเหสีของพระยากง เทพยดาจึงนิรมิตรเป็นสัตว์ บางแหล่งบอกว่าเป็นแพะ บางแหล่งบอกเป็นวิฬาร์แม่ลูกอ่อนนอนขวางบันไดปราสาทอยู่  เมื่อพระยาพานเดินข้ามสัตว์แม่ลูกไป ลูกสัตว์จึงว่ากับแม่ว่า ท่านเห็นเราเป็นสัตว์เดรัจฉานท่านจึงข้ามเราไป แม่สัตว์จึงว่ากับลูกว่านับประสาอะไรกับเราเป็นสัตว์เดรัจฉาน “แต่มารดาของท่าน ท่านยังจะเอาเป็นเมีย”

 

พระยาพานได้ยินเช่นนั้นจึงเกิดความสงสัย เมื่อเข้าไปถึงห้องพระมเหสีจึงตั้งสัจอธิษฐาน หากพระอัครมเหสีเป็นมารดาของพระองค์จริงก็ให้ปรากฏว่ามีน้ำนมไหลออกมาจากถันยุคลให้เห็น ในระหว่างที่สนทนากันอยู่นั้นน้ำนมจากถันของพระมเหสีก็ได้ไหลซึมและไหลย้อยออกมานอกเสื้อทรงของพระนาง พระยาพานทองเห็นดังนั้นจึงรีบลุกจากพระที่นั่งลงมานั่งกับพื้นแล้วกันแสงแล้วก้มกราบพระมารดาแนบพื้น พระมารดาตกพระทัยแต่พอจะอนุมานได้บ้างว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะคำทำนายโหรบอกว่าใครคือคนที่จะฆ่าพระยากง ทั้งสองแม่ลูกจึงได้สอบถามและบอกเรื่องราวที่มาที่ไปของกันและกัน 

 

ศาลยายหอมที่อยู่ในบริเวณวัดดอนหายหอม

 

พระยาพานจึงโกรธยายหอมที่รู้เรื่องทั้งหมดแต่ไม่ยอมบอก จึงเป็นเหตุกระทำปิตุฆาต จึงจับยายหอมฆ่าทิ้งเสีย ยายหอมเมื่อจะตายนั้นก็รำเย้ยให้ ครั้นตายแล้วแร้งลงกินศพยายหอม คนจึงเรียกที่นั้นว่าอีรำท่าแร้ง บ้านยายหอมจึงเรียกว่า “โคกยายหอม” มาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันคือ ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมืองนครปฐม ชะตากรรมยายหอมผู้ซื่อสัตย์ต้องมาจบชีวิตลง คนทั้งปวงจึงเรียกพระยาพานทองว่า “พระยาพาล” ด้วยเหตุฆ่าบิดากับยายหอมผู้มีพระคุณฝ่ายพระยาพานเมื่อพระทัยเย็นลงแล้ว ก็พิจารณาใคร่ครวญเรื่องราวต่างๆ อย่างแจ่มแจ้ง เมื่อได้สติพระยาพานเสียพระทัยที่พระองค์ได้ทำกรรมอันหนักหนาและใหญ่หลวงต่อผู้มีพระคุณถึงสองท่าน ไม่เป็นอันกินอันนอนด้วยเกรงกลัวในบาปอันมหันต์นี้ยิ่งนัก จึง ประชุมพระอรหันต์แลสงฆ์ทั้งปวง ว่าจะทำกุศลสิ่งใดกรรมนั้นจะเบาบางลงได้บ้าง พระอรหันต์จึงว่าให้สร้างพระเจดีย์สูงใหญ่เท่ากับนกเขาเหิน ถวายเป็นพุทธบูชาเพื่ออุทิศบุญให้กับพระยากงพระบิดา แล้วสร้างพระเจดีย์ใหญ่อีกองค์อุทิศให้ยายหอมก็จะทาให้ได้บุญกุศลมาก และกรรมหนักนั้นจะได้เบาบางลงบ้าง   หนังสือบางแห่งว่าพระอรหันต์ที่มาประชุมนั้นท่านชื่อพระคิริมานนท์ ชื่อพระองคุลิมาร และที่ประชุมพระอรหันต์นั้นจึงเรียกว่า “ธรรมศาลา” มาจนถึงทุกวันนี้   

 

พระยาพานได้ฟังดังนั้นก็เลื่อมใสศรัทธา จึงดำรัสสั่งให้เสนาบดีคิดการสร้างพระเจดีย์ใหญ่สูงเท่านกเขาเหิน (นกเขาบิน) จึงได้ก่อสร้างพระเจดีย์ครอบพระปฐมเจดีย์องค์เก่าให้ใหญ่สวยงาม และสูงเท่ากับนกเขาเหินเพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับพระบิดาคือพระยากง และ ได้สร้างพระประโทณเจดีย์อย่างสวยงามและใหญ่โตอีกแห่งหนึ่ง เพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับยายหอมผู้เป็นแม่เลี้ยงของพระยาพาน 

 

ศาลยายหอมที่อยู่ในบริเวณวัดพระประโทนเจดีย์

 

ปัจจุบันที่วัดพระประโทณเจดีย์ มี “ศาลยายหอม” ที่อยู่ข้าง กันกับเจดีย์พระประโทณ ภายในศาลมีรูปปั้นยายหอมกับเด็ก และจะพบผู้คนที่ศรัทธานำตุ๊กตารูปปั้นเป็ดมาถวายเป็นจำนวนมาก 

 

สาเหตุที่นิยมนำเป็ดมาเป็นของถวายก็ไม่มีอะไรซับซ้อน มากกว่าในตำนาน ที่ว่า “ยายหอมมีอาชีพเลี้ยงเป็ด” ทั้งนี้ก็เพื่อความศรัทธาและนำมาแก้บนสำหรับผู้ที่มาขอกับศาลยายหอม  อย่างไรก็ตามศาลยายหอมยังมีอีกที่หนึ่งคือที่ “เนินพระ” ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมืองนครปฐม ที่ห่างจากกันประมาณ ๘-๙ กิโลเมตร ชาวบ้านเรียกว่า “วัดโคกยายหอม” ที่เชื่อกันว่ายายหอมผู้เลี้ยงพระยาพานตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้ตามตำนาน และที่แห่งนี้ก็เป็นแหล่งโบราณสถาน สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

 

ศาลยายหอมข้างพระประโทณเจดีย์จึงมีที่มาจากตำนานท้องถิ่นประจำเมืองนครปฐมโบราณนั่นเอง

 

บันทึกจากท้องถิ่น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๘ (เม.ย.มิ.ย.๒๕๖๑)

 

 

อัพเดทล่าสุด 21 ก.ย. 2561, 10:44 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.